ต้องยอมรับว่า Social Media หรือสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นผู้ครองตลาดเจ้าเดิมอย่าง Facebook, Twitter, YouTube และ foursquare อีกทั้งยังมี Google+ ที่ทาง Google ได้คลอดออกมา ด้วยความแรงแซงโค้งเพราะเฝ้าจับตามองรุ่นพี่อย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์รุ่นพี่ที่ออกมาแล้ว
ซึ่งสื่อทุกตัวที่ยกขึ้นมาเมื่อครู่นั้นล้วนได้การันตีให้กลุ่มนักการตลาดออนไลน์ และ ผู้บริโภคทุกแห่งทั่วโลกได้ทราบถึงศักยภาพของมันแล้ว และหลายคนก็เริ่มที่จะมองว่าสื่อทั้งหลายที่พูดถึงทั้ง Facebook, Twitter, YouTube, Google+ และ foursquare จะต้องเป็นสื่อมาตรฐานที่ยืนหยัด และอยู่เป็นมาตรฐานของเครื่องมือด้านการตลาดไปอีกนานบนโลกออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต
แต่ใครจะทราบว่าบางครั้งนั้นผู้บริโภคบางกลุ่ม หรือหลายกลุ่ม ไม่สามารถเข้าถึง หรือใส่ใจในเครือข่ายเหล่านี้ ไม่ใช่ว่ากลุ่มผู้บริโภคที่แปลกแยกนี้ขาดเทคโนโลยี หรือการติดต่อแบบอินเทอร์เน็ตเข้าข่ายแบบว่า “ล้าสมัย” นั่นก็คงไม่ใช่ อันที่จริงผู้เขียนเองเคยคลุกคลีอยู่กับนักธุรกิจต่างชาติชาวญี่ปุ่น และไต้หวัน ทำให้พอเข้าใจถึงข้อจำกัดบางอย่างที่การตลาดจากเครื่องมือสื่อออนไลน์ หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Twitter และ YouTube เข้าไม่ถึง เพราะนักธุรกิจในกลุ่มนี้คือผู้บริโภคแบบชาตินิยม อีกกรณีหนึ่งคือ ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่นิยมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่แตกต่าง หรือที่เรียกว่า “ทางเลือก (Alternate)” นั่นเอง
ทำไมต้องวิ่งหา Social Media ทางเลือก
คำถามนี้คงวิ่งวน และสร้างความสงสัยให้แก่หลายคนว่า ในเมื่อทั่วโลกการันตี แล้วว่า Facebook และ Facebook Fan Page คือเครื่องมือในการทำ CRM หรือ Customer Relation Management ที่ดีที่สุด อีกทั้งยังอัพเดต และสร้างกิจกรรมแคมเปญมากมายได้ผลลัพธ์ทันใจ ส่วน Twitter หลายคนก็ทราบดีกว่า เจ้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ตัวนี้ทรงพลังในเรื่องของการกระจายข้อมูล และบอกต่อได้รวดเร็วทันเวลา ไม่มีคำว่าตกเทรนด์ ไปจนถึง YouTube ที่รู้กันอยู่แล้วว่า ผู้ใช้งานทั่วโลกบริโภคสื่อในรูปแบบวีดีโอเป็นอันดับสูงที่สุด การตลาดผ่าน Viral Video บนเว็บไซต์ YouTube จึงเป็นที่นิยมมากเป็นอันดับหนึ่งบนโลกอินเทอร์เน็ต ในเมื่อทุกอย่างมันก็ถูกยืนยันความสำเร็จ และผลลัพธ์ออกมาให้เห็นเป็นมูลค่า และข้อมูลสถิติวิเคราะห์ให้วัดผล อยู่ตรงหน้าแล้ว ทำไมเรายังต้องวิ่งหาสื่อออนไลน์ทางเลือกอีก
คุณมั่นใจได้อย่างไรว่า กลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณจริงๆ ส่วนมากอยู่บนสื่อที่พูดถึงเมื่อครู่
อย่าเพิ่งมั่นใจว่า กลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าชั้นดีของคุณอยู่บนสื่อออนไลน์ ยอดนิยม เคยสังเกตไหมว่า Facebook มี Fan Page มากมาย มี Feature ในการบอกตำแหน่งงาน และประสบการณ์ แต่ทำไมการถูกตัว หรือซื้อตัวพนักงานเฉพาะด้านนั้น Facebook ถึงเชื่อถือไม่ได้เท่า LinkedIn ตรงนี้ผู้เขียนขอเบรคไว้ก่อนว่า ผู้ใช้งานในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการหลายราย อาจจะยังไม่รู้จัก LinkedIn เครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับคนทำงาน และหางานที่ตรงความสามารถ ซึ่งหลายองค์กรยังไม่รู้ว่า LinkedIn นั้นหากองค์กรไหนต้องการผู้เชี่ยวชาญแบบตัวจริง เครือข่ายสังคมออนไลน์ตัวนี้ช่วยได้ดีที่สุด และได้ผลลัพธ์ด้านคุณภาพที่ชัดเจน ที่สุดมากกว่าการหว่านแหหาเพชรในตมจากการกด Like
LinkedIn เป็นเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ แต่ในประเทศไทยกลับมีน้อยคนที่จะพูดถึง หรือแค่สมัครไว้ให้รู้ว่า “มีแล้ว” เท่านั้น หากวัดผลกับ Facebook แล้วอย่างที่บอก LinkedIn มีบุคคลากรคุณภาพมากมายให้เลือกคัดกรองรายตัวโดยไม่ผ่านนายหน้า ติดต่อได้ตรงๆ อีกทั้งยังมีคะแนนวัด Connection ของบุคคลากรคนนั้นให้เห็นไว้อ้างอิงว่าเค้ามี Connection กับคนในวงการโดยตรง ต่างกับ Facebook ที่เราต้องไปเสียเวลาหารายชื่อ Friend หลัก ร้อย ถึงหลัก พัน ให้เหนื่อยว่าคนในวงการ หรือสายงานโดยตรงนั้นมีกี่คน
โดยส่วนตัวแล้ว LinkedIn ในประเทศไทยมีสิทธิ์ที่จะได้รับความนิยมสูง หากว่ามีการสร้างกระแส และอธิบายให้เห็นถึงประโยชน์ของเจ้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ตัวนี้อย่างชัดเจนต่อผู้ใช้งาน Social Media
สำหรับ Twitter หลายคนก็คงบอกว่าไม่มีใครเทียบเท่ามันได้ในเรื่องของพลังแห่ง 140 ตัวอักษร, ถูกต้องครับ แต่เคยทราบหรือไม่ว่าประเทศไต้หวัน และจีนนั้นไม่อนุญาตให้ประชากรบนโลกอินเทอร์เน็ตใช้ Facebook, Google และ Twitter คราวนี้ก็เป็นปัญหาแล้วหากว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจของคุณคือลูกค้าในประเทศที่พูดถึงนี้ อันที่จริงประเทศที่เข้าข่ายชาตินิยม ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีนเองนั้นก็มี เครือข่ายสังคมออนไลน์รุ่นพี่อย่าง Weibo (เว่ยป๋อ) ที่ทำงานได้เหมือน Twitter ทุกประการ ที่สำคัญชาวจีนทุกคนใช้กัน ซึ่งในอนาคตนี้ Weibo กำลังจะเปลี่ยนจาก Social Media ทางเลือกตัวเล็ก มาเป็น Social Media ทางเลือกตัวใหญ่ หรืออาจจะเป็นตัวหลักก็เป็นได้ เพราะว่าทาง Weibo ได้เปิดตัวพัฒนาเวอร์ชันที่ไม่ใช่ภาษาจีน แต่เป็นภาษาอังกฤษทำให้นักการตลาดในประเทศไทย และต่างประเทศที่มีคู่ค้าเป็นชาวจีน ที่ต้องการเล่นแคมเปญการตลาดผ่าน 140 ตัวอักษรกับลูกค้าชาวจีน สามารถปรับตัว และทำการตลาดได้อย่างดีขึ้น
ถ้ายังอยู่ในเรื่องของการอัพเดตข่าวสารรวดเร็ว ในข้อความ 140 ตัวอีกษรเหมือน Twitter แล้ว เครือข่ายสังคมทางเลือกที่คล้ายคลึงกันนั้นมีอยู่มากมายหลายตัว และบางตัวมีระบบการใช้งานที่น่าสนใจ ทั้งส่วนต่อประสานหน้าจอ หรือหน้าเว็บไซต์ของตัวเครื่องมือเองก็ดูน่ารัก น่าใช้งาน ไปจนถึงลูกเล่นที่ถูกวิเคราะห์มาดีแต่ถูกลืมไปอย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อทะเล้นที่มีดี แต่ถูกละเลยที่มีชื่อว่า Plurk
สำหรับ Plurk นั้นเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ทางเลือกที่มีระบบการนำเสนอที่ดี น่าสนใจ ขาดเพียงอย่างเดียวคือกระแสที่จะเข้ามาโหม ทำให้ Plurk กลายเป็นของดีที่ถูกผู้ใช้หลายประเทศลืมไป ข้อดีที่ผู้เขียนมองเห็นในระบบของ Plurk นั้นคือสิ่งที่ Twitter มี, สิ่งทดแทนข้อจำกัดของ Twitter,ส่วนผสมที่น่าสนุกสนาน นั่นเอง แน่นอนว่าสิ่งที่ Plurk มีนั้นก็คือ 140 ตัวอักษร แสดงผลเป็น Timeline มีการจัดการผู้ติดตาม ส่วนที่ plurk แตกต่างกับ Twitter นั้นคือข้อจำกัดด้าน Limit Exceed ของ Twitter ที่น่าจะเกิดขึ้นกับหลายคนเป็นประจำ กราฟิกน่ารักที่แสดงข้อความเป็น Timeline แนวนอนให้เลื่อนดูได้ถึงวันแรกที่สมัคร ข้อความแรกที่ได้เขียนขึ้นไป
อีกทั้งยังสามารถแทรก Timeline คั่นกลางได้ หากมีเพื่อนๆ หรือ Follower ในระบบอยู่ด้วยแล้วจะเห็น ข้อความ Stream ของเพื่อนๆ เราปรากฏอยู่บน Timeline เช่นกัน สังเกตไหนว่าสิ่งหนึ่งที่ Plurk มีดีนั้นคือ Timeline ที่โดดเด่นจนเครือข่ายสังคมรุ่นใหญ่อย่าง Facebook ต้องหยิบยืน คุณสมบัตินี้ไปเนียนๆ ออกมาเป็น Facebook Timeline นั่นแหละครับ
นอกจากนี้แล้ว Plurk เองมีระบบเก็บ Badge ซึ่งแน่นอนว่าไปเอาคุณสมบัตินี้มาจาก foursquare ทำให้เกิดความผูใช้งานสามารถใช้ Plurk ในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้เงื่อนไขเกี่ยวกับ Badge นอกเหนือจากนั้นที่มี Plurk มีและแตกต่างก็คือระบบเก็บแต้มที่เรียกว่า Karma กลุ่มผู้ใช้งาน Plurk ที่เหมาะสมนั้นน่าจะอยู่ในกลุ่มของวัยรุ่นที่ชอบกราฟิกลายการ์ตูน และนิยมแสดงเงื่อนไข และเปิดเผยอารมณ์ และความรู้สึกว่า ขณะนั้นกำลังคิดอะไร ชอบใคร คิดในใจว่าอะไร ซึ่ง Twitter ไม่มีแต่ Plurk มี เป็นไปได้ว่าหากมีการหยิบเจ้า Social Media ตัวนี้กลับมาปัดฝุ่น และสร้างกระแสใหม่ดีๆ น่าจะมีกลุ่มผู้เล่นกลุ่มใหม่ที่มีความนิยมต่อ Social Media ตัวนี้แน่นอน ปัจจุบันมีคนไต้หวัน และญี่ปุ่นเล่น Plurk เป็นจำนวนมาก
ในส่วนของการแสดงความรู้สึกนั้น Plurk สามารถกำหนดได้ว่า ขณะนั้นผู้เล่นกำลังอยู่ในสถานการณ์ใด หรือภาวะอะไรนอกจาก Plurk, Twitter และ Weibo แล้วเครื่องมือในการทำ การตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ใกล้เคียงกันที่ใช้ 140 ตัวอักษรในการสื่อสารนั้น ยังมี Tumbr ที่เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มในต่างประเทศ โดยหลักการก็จะใกล้เคียงกับ Twitter แต่ไม่ใช่หลักการ 140 ตัวอักษร แต่ Tumbr จะเน้นการเขียน Quotes หรือคำนิยาม ดีๆ และภาพถ่ายสวยๆ สำหรับแบ่งปันให้แก่เพื่อนๆ ในเครือข่ายมากกว่าครับ
ลักษณะการใช้งาน Tumbr จะเป็นเหมือนการบันทึก Quotes ที่ให้แรงบันดาลใจ หรือคำอธิบายภาพถ่ายที่สะท้อนมุมมองในสังคมต่างๆ ทำให้ Tumbr เป็นเหมือนเครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์อีกตัวที่วัดผล จากความนิยมของผู้ใช้ แน่นอนว่าหากนำมาประยุคดีจะเห็นข้อดีที่โดดเด่นในตัวเครื่องมือบน Social Media เหล่านี้ได้ชัดเจน
จะเห็นว่าเครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์ หรือ สื่อสังคม แบบทางเลือกนั้นก็สามารถหยิบมาใช้ได้ผล ในการทำแคมเปญการตลาดกับลูกค้าต่างประเทศ ทั้ง Twitter, Weibo, Plurk และ Tumbr ทั้งหมดนี้อาจจะมีการนำเสนอเนื้อหา และใช้งานเครื่องมือที่แตกต่างทั้งฟังก์ชัน และวัตถุประสงค์ แต่เป้าหมายที่จะได้จากเครื่องมือเหล่านี้จริงๆ นั้นคือบุคคลที่เป็นที่นิยม หรือ Influence ที่จะได้ใช้บุคคลเหล่านี้เป็นศูนย์กลางกระจายบริการ และสินค้าของเราต่อไปนั่นเอง เลือกหา Influencer ที่เหมาะสมกับ Product บางครั้งการวัดผลว่าบุคคลที่เราสนใจเป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือเป็น Influence ที่น่าเชื่อถือขนาดไหนในโลกอินเทอร์เน็ต สามารถวัดผลได้ด้วยเว็บไซต์ www.klout.com หรือ Klout
บริการของ Klout เป็นบริการที่น่าสนใจมาก เพราะว่า Klout จะมีฟังก์ชันในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์มากมายทั้ง Facebook, Twitter และเหล่า Social Media ทางเลือก (เห็นไหนว่ามีผล) ซึ่งบริการของ Klout จะทำการเก็บสถิติผ่านความเคลื่อนไหวของสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ แล้วสรุปออกมาให้ทราบถึงคะแนนความน่าเชื่อถือ ที่ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างได้แก่ True Reach Score ช่องทางการเข้าถึงเครือข่ายของเราที่แท้จริง, Amplification Probability อัตรา คะแนนในการบอกต่อทำให้สามารถเชื่อได้ว่าหากโฆษณาผ่านบุคคลนี้จะผ่านสายตากลุ่มลูกค้าได้หลายคน และสุดท้ายคือ Network Score ซึ่งเป็นคะแนนวัดผลเครือข่ายว่าผู้ใช้ คงความนิยมของตนเองได้มากแค่ไหน
สาเหตหนึ่งก็เพราะว่าบริการ Klout ตัวนี้เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น และในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มผู้ใช้เพิ่มขึ้นแล้วหลายกลุ่มทำให้ หลายคนเริ่มหันมาเพิ่มคะแนนให้แก่ตนเอง โดยการสมัคร และสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ให้คะแนนสูงขึ้นผ่าน Social Media ทางเลือกตัวอื่นๆ ที่ Klout จะทยอยเป็นพันธมิตรด้วย ข้อดีก็คือสามารถสร้าง Connection กับผู้บริโภคหลักในต่างประเทศได้สะดวกผ่าน Social Media ทางเลือกที่จะทำให้ลดปัญหาโลกทัศน์แคบจากการรู้จักเพียงแค่ Facebook และ Twitter นั่นเอง
คะแนนการวัดผลความนิยมของ Klout จะถูกสรุปออกมาให้ทราบว่าบุคคลที่ใช้เครือข่ายสังคม ที่หลากหลายนั้นมีเครือข่ายกว้างขวางมากมายแค่ไหนทำให้หลายองค์กรสามารถเข้ามาดูและเลือกค้นหา Influencer หรือผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ที่เหมาะสมกับโปรดักด์ หรือแบรนด์ที่ต้องการประชาสัมพันธ์
คะแนนของแต่ละคนอยู่ในช่วงไหนก็จะมีชื่อ เรียก ลักษณะนามให้คนคนนั้น อย่างในรูปภาพตัวอย่างผู้เขียนมีคะแนนความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์ 42.31 คะแนนก็จะอยู่ในกลุ่ม Networker ส่วนคุณ @PlePleJung จะอยู่ในกลุ่ม Thought Leader เพราะมีคะแนน 74 คะแนน หลักการของ Klout นอกจากจะวัดผลเรื่องความน่าเชื่อถือแล้วยังสามารถวิเคราะห์ได้ว่าคนไหนเป็น Influencer ที่เหมาะสมกับอะไรและมีกิจกรรมออนไลน์มากแค่ไหนได้อีกด้วยทำให้บริการ Klout ตัวนี้น่าจะได้รับความนิยมในอนาคตแน่นอน สำหรับวงการการตลาดในประเทศไทย
นอกจาก Foursquare แล้วอันที่จริงทางเลือกอีกตัวที่เทียบเท่ากับเครื่องมือทำการตลาดผ่านพิกัดที่ตั้งตัวนี้ก็มีมากมาย อีกทั้งยังไม่ใช่ Social Media ที่ถูกลืมเหมือนประเด็นข้างบน เพราะหลายตัวที่ใช้นอกเหนือจาก foursquare นั้นยังมีฐานผู้ใช้ทั่วโลกกระจายกันไป อีกทั้งเป้าหมายในการทำการตลาดผ่าน Location Based Service เองนั้นก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ดังนั้น Social Media ทางเลือกบนการทำตลาดออนไลน์ผ่านพิกัดที่ตรงใจกลุ่มผู้บริโภคในสถานที่ต่างๆ จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง ผู้ใช้งานเลือกใช้ได้ตามใจชอบ ตามความสวยงามของกราฟิก และ ความนิยมของผู้ใช้แต่ละประเทศ และทวีปได้เลย
เช่นกัน Brightkite ที่มีกลุ่มผู้ใช้ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอเมริกาสูงมากเทียบเท่ากับ Foursquare ซึ่งใกล้เคียงกับ Yelp ที่สูงเช่นกัน เพราะว่าทั้ง Brightkite และ Yelp นั้นโดดเด่นในเรื่องของการแบ่งปันที่เที่ยว และแหล่งปาร์ตี้ไนต์คลับในยามค่ำคืน โดยกลุ่มผู้ใช้มากกว่า Foursquare ที่เน้นเพียงระบุสถานที่
จะเห็นว่าการตลาดผ่าน Location Based Service นั้นทางเลือกนอกสายตาของนักการตลาดในประเทศไทยมองข้ามความนิยมบริการอย่าง Brightkite และ Yelp ไปมาก ทั้งที่ธุรกิจสายตรงเกี่ยวกับสถานบันเทิงในประเทศไทยนั้นไม่เป็นรองใครในโลก แต่ความนิยมในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดผลนั้นก็ยังอยู่ในพื้นฐานของการสร้างกระแสให้ผู้บริโภครู้จัก Social Media ตัวใหม่ๆ กันบ้างอยู่ดี
สรุป Social Media ทางเลือก นั้นสำคัญหรือไม่ จะเห็นว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง Social Network และ Social Media นั้นมีมากมายกว่าที่คิด แม้ว่าหลายตัวอาจจะสู้ Social Media ยอดฮิตอย่าง Facebook, Twitter, Google+ และ foursquare ไม่ได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้รับความนิยม บางครั้งนักการตลาดออนไลน์อาจจะต้องหันมามอง Social media ทางเลือกทั้งหลายที่ยกตัวอย่างมาศึกษาดูบ้าง เพราะบางทีกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง ที่วัดผลความชอบในบริการของเรา หรือ Brand Royalty นั้นอาจจะอยู่ในกลุ่ม หรือประเทศที่นิยมเล่น Social Media ทางเลือกก็เป็นได้