มีการกล่าวถึงกระแสของเทคโนโลยี Cloud Computing กันมากขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตัวทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ โดยคาดการณ์ว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และที่น่าจับตามองไปกว่านั้นคือ เทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโมเดลธุรกิจทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอนาคต
ดนุพล สยามวาลา ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท ไอซ์ โซลูชั่น จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้ความเห็นว่า Cloud Computing เป็นแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เชื่อมโยงกัน คอมพิวเตอร์ที่ทำงานร่วมกันอาจตั้งอยู่ในห้องเดียวกันหรือ ห่างกันก็ได้ โดยระบบจะทำงานประสานกันแบบรวมศูนย์ช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายซึ่งแนวคิดดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
"โครงสร้างขององค์กรสมัยก่อน มีการนำระบบทั้งหมดมารวมกันไว้ในองค์กร
แต่ปัจจุบันเริ่มมีการทำโฮสติ้ง การทำ Backup ข้อมูล รวมทั้งการนำ Server
บางส่วนออกไปอยู่นอกออฟฟิศ ผมมองว่าการใช้ไอทีในองค์กรจะค่อยๆ
เปลี่ยนรูปแบบไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่ง Cloud เป็นส่วนหนึ่ง
ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต"
ดนุพลกล่าว
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า Cloud จะ ช่วยแก้ปัญหาของคนที่ต้องการลดกระบวนการทางด้านไอที เริ่มจากการใช้งานแอพพลิเคชั่นพื้นฐานบางส่วน เช่น E-mail และ CRM จะสามารถให้บริการในรูปแบบของ Cloud ได้ก่อน ส่วนแอพพลิเคชั่นที่สำคัญขององค์กร เช่น ระบบบัญชีและการเงินจะยังคงไว้ เนื่องจากระบบบัญชีของประเทศไทย 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่บน Client Based ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญต้องระมัดระวัง เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และเป็นจุดอ่อนทำให้มีความยากในการปรับไป ให้บริการบน Cloud
Cloud กับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไอที
แม้หลายคนมองว่า Cloud ช่วยลดต้นทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แทนการลงทุนทั้งระบบสามารถจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริงได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมองว่าการเข้ามาของ Cloud ส่งผลต่อโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
เนื่องจากรายได้หลักในตลาดไอทีของประเทศไทยมาจากฮาร์ดแวร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าซอฟต์แวร์ เมื่อ Cloud เข้ามา จะทำให้มูลค่าของตลาดฮาร์ดแวร์ ลดลง ขณะเดียวกันบริษัทฮาร์ดแวร์เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทไอทีไทยเป็น ผู้ประกอบการที่ขายฮาร์ดแวร์ (System Integration) บริษัทเหล่านี้จึงต้องมองโซลูชั่นหรือซอฟต์แวร์มากขึ้น เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า
“จากเดิมที่ผลิตฮาร์ดแวร์ออกมา ใช้งานแบบ 1 ต่อ 1 ปัจจุบันฮาร์ดแวร์ 1 เครื่อง สามารถใช้งานร่วมกันได้หลายคน บริษัทจึงต้องมีการปรับตัวไปเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์มากขึ้น เพราะการแข่งขันในอนาคตต่อไป ระบบไอทีที่อยู่ในบริษัทจะเป็นเทรนด์ของการให้บริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต” ดนุพลอธิบาย
Cloud ช่วยธุรกิจได้อย่างไร
ประโยชน์ของ Cloud ยังช่วยให้องค์กรลดปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การเชื่อมต่อฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ ทำให้ปัญหา ของเจ้าหน้าที่ๆ ดูแลระบบไอทีขององค์กรลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ดูแลระบบ หรือการอัพเกรดระบบใหม่ๆ ตลอดเวลา
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การตัดสินใจลงทุนด้าน ไอทีของผู้ประกอบการไม่ได้อยู่บน พื้นฐานเทคโนโลยี แต่จะตัดสินใจเลือกลงทุนตามบริการที่ต้องการใช้ความ น่าสนใจจึงอยู่ที่ผู้ให้บริการว่า จะสามารถ ดูแลกลุ่มลูกค้าเดิมของตนเองได้อย่างไร เนื่องจากผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ง่ายและมีความ คุ้มค่ามากขึ้น
“การลงทุนไอทีในแบบเก่า เช่น ลงระบบ 1 ชุด มูลค่า 100 บาท จะต้องใช้ต่อเนื่องไป 3 ปี ใช้ประโยชน์จริงเพียง 40-50 บาท แต่สิ่งที่ Cloud จะให้ คือ ลงทุน 40-50 บาท ใช้เท่าที่ใช้จริง และเมื่อธุรกิจโตค่อยลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสามารถทำสัญญา 3 เดือน เมื่อใช้จบก็ซื้อใหม่หรือเปลี่ยนผู้ให้บริการก็ได้” ดนุพลชี้แจง
ดังนั้น การลงทุนด้านไอทีหรือกระบวน-การขององค์กรจะเกิดการปรับเปลี่ยน ได้เร็วขึ้นและทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาด Cloud จึงเป็นอนาคตที่น่าสนใจเพราะจะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดทางธุรกิจทั้งหมด เปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีมานานนับสิบปี นับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของธุรกิจไอที
ผู้ให้บริการ Cloud ในประเทศไทย
ผู้ให้บริการ Cloud สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ให้บริการเน็ตเวิร์ก เช่น ทีโอที และทรู ไอดีซี ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกๆ ทั้งในรูปแบบของคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) ที่เน้นการใช้งานเฉพาะลูกค้าแต่ละราย และคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) ซึ่งเหมาะกับกลุ่ม SMEs 2. ผู้ให้บริการโซลูชั่น ซึ่งในขณะนี้ มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เริ่มเปิดตัวโซลูชั่นที่เกี่ยวกับ Cloud ออกมาอย่าง ต่อเนื่อง เช่น เทรนด์ไมโคร ฮิตาชิ ไอบีเอ็ม ออราเคิล และซันไมโครซิสเต็มส์ เป็นต้น
ส่วนบริษัทของไทยมีเพียงผู้ประกอบ-การ บางรายเท่านั้น ที่มีความพร้อมในการให้บริการ Cloud เนื่องจากต้องมีความรู้ในเรื่องการปรับแต่งซอฟต์แวร์ของตนเองและกระบวนการทางธุรกิจมาเป็น Software as a Service (SaaS) ที่ต้องใช้บุคลากรและต้นทุนในการ ดำเนินการ โดยต้นทุนในส่วนนี้จะขึ้นกับการวางแผนและทบทวนโครงสร้างสถาปัตยกรรมเดิมของซอฟต์แวร์นั้นๆ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งซอฟต์แวร์ หรือเลือกเป็นโมดูลก็ได้
โดยบริษัทไทยที่มีความพร้อม ได้แก่ บริษัทที่ให้บริการด้าน Collaboration หรือเครื่องมือที่ช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลในองค์กรให้มีความ สะดวกขึ้นด้าน IP Phone หรือการให้บริการโทรศัพท์ที่รองรับเทคโนโลยี VoIP นอกจากนี้ยังมีบริษัทในกลุ่มโอเพ่นซอร์ส อีก 5 บริษัท ซึ่งยังไม่ได้มีการเปิดตัว อย่างเป็นทางการ
ส่วนบริการ Cloud ในต่างประเทศนั้น ยังอยู่ในช่วงทดลองเช่นเดียวกัน และยังไม่เห็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจนเหมือน Amazon, Google หรือ Salesforce เนื่องจากชาวเอเชียมีพื้นฐานการใช้ ไอทีที่ซับซ้อน ในขณะที่ชาวตะวันตกมีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ใช้ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีเงื่อนไขและรายละเอียดมาก และไม่เอื้อต่อการใช้ Cloud ในระยะแรก
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการที่ต้องการให้บริการผ่าน Cloud นั้นต้องเริ่มต้นจากจุดที่ตนเองมีความพร้อมและเตรียมทีมงาน ที่มีความรู้ความเข้าใจการปรับแต่ง แอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม การปรับซอฟต์แวร์นั้นต้องใช้ระบบ Cloud Computing จากผู้ให้บริการ Data Center ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย ยังมีผู้ลงทุนด้าน Cloud น้อย ทำให้องค์ความรู้หรือประสบการณ์มีไม่มาก และอาจจะส่งผลให้การพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud ทำได้ล่าช้า
ที่มา: นิตยสาร E - Commerce Magazine