อนาคตระบบปฏิบัติการที่มากับเครื่องแล็ปท็อปคงจะมีหน้าที่แค่เรียกเว็บบราวเซอร์เพียงอย่างเดียว เพราะบนเว็บบราวเซอร์ตอนนี้มีแอพพลิเคชันทุกอย่างที่มีอยู่บนคอมพิวเตอร์ให้เลือกใช้มากมายแล้ว ต้นทุนในการสร้างองค์กรคงจะลดลงมาก องค์กรขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์
ถ้าให้พูดถึงเทรนด์ของแอพพลิเคชันในตอนนี้จะพบว่า แอพพลิเคชันในแต่ละแพลตฟอร์มมีการเติบโตในท้องตลาดสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ประเภทของแอพพลิเคชันที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดคือแอพพลิเคชันบนแพลตฟอร์มของสมาร์ทโฟนซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนของ Application Store หลายค่ายที่พร้อมใจกันพัฒนาแอพพลิเคชันของตนออกมาอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือแอพพลิเคชันที่ใช้งานบนเว็บไซต์ หรือ ผ่านเว็บบราวเซอร์ซึ่งมีทั้งแบบที่ให้บริการจาก SaaS (Software as a Service) ผ่านบริการ Cloud Computing ซึ่งหากให้เปรียบเทียบความสามารถของแอพพลิเคชันทั้งสองแพลตฟอร์มที่ถือว่าเป็นเทรนด์ที่เข้าตาที่สุดตอนนี้ที่สำคัญข้อมูลเนื้อหา หรือสารสนเทศที่แอพพลิเคชันบนสองแพลตฟอร์มนี้ต้องนำมาแสดงผลนั้นอยู่บนอินเตอร์เน็ท อีกทั้งในปัจจุบันแนวโน้มของ Traffic Source ในการเข้าถึงเว็บไซต์นั้นลดลง เพราะกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มใช้สมาร์ทโฟนในการเข้าถึงสารสนเทศ และเนื้อหาที่ถูกแสดงผลผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมากกว่า ทำให้กลุ่มนักพัฒนา กลุ่มนักการตลาดออนไลน์ ต้องร่วมมือกันวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้
ในช่วงหนึ่งมีการพัฒนาเว็บบราวเซอร์ให้สามารถทำงานได้เหมือนแอพพลิเคชันทั้งแบบส่วนเสริมอย่าง Extension บน Firefox และการฝังความสามารถของแอพพลิเคชันรองรับเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ลงใน RockMelt และ Flock Browser ที่เลิกพัฒนาไปแล้วตอนนี้ สงครามการการตลาดที่เอาพฤติกรรมผู้ใช้มาเป็นเครื่องมือวัดความนิยมระหว่างสองแพลตฟอร์มยังคงดำเนินต่อไปล่าสุดแนวคิดการปรับเปลี่ยนเว็บบราวเซอร์ให้สามารถทำงานได้เหมือนแอพพลิเคชันก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสำหรับรองรับการทำงานที่รวดเร็วเหมือนใช้แอพพลิเคชัน จากหลายเว็บไซต์ เช่น Google Apps, Facebook, Twitter, Hootsuite และ แอพพลิเคชันจำพวก CRM ตัวอื่นอีกมากมายที่อยู่ในรูปแบบ SaaS ต่างยกขบวนร่วมมือกันเปลี่ยนฟังก์ชันการทำงานให้ใช้งานง่ายรวดเร็ว ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้งาน อีกทั้งผู้พัฒนาเว็บบราวเซอร์เองต่างก็ปลุกกระแสพัฒนาปรับรุ่นเว็บบราวเซอร์ของตัวเองให้โดดเด่นที่สำคัญมีส่วนเสริมที่เริ่มจะไม่ใช้คำว่า Extension อีกต่อไปแต่เริ่มเปลี่ยนมาใช้คำว่า Application หรือ Apps บน Web Store ซะเองน่าจะเป็นแนวทางที่นักพัฒนาเว็บบราวเซอร์มองเห็นแล้วว่ากลยุทธ์แบบนี้จะทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลับมาให้ความสำคัญกับเว็บบราวเซอร์อีกครั้ง
ประสบการณ์อันน่าประทับใจครั้งแรกของผู้ใช้
แอพพลิเคชันบนเว็บไซต์หลายตัวที่ถูกพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการ SaaS บน Cloud ที่ให้บริการแก่ผู้ที่สนใจใช้เฉาพะงาน เช่น ส่วนเสริมของ Google Chrome ที่เรียกว่าบริการ Chrome Web Store, เครื่องมือวัดประสิทธิภาพเว็บ หรือ Analytics Tool ทั้งหลาย และระบบ CRM on Demand ที่ให้บริการสำหรับดูแลฐานข้อมูลลูกค้าผ่านหน้าเว็บไซต์จัดเก็บข้อมูลบนพื้นที่ที่มีความปลอดภัยดูแลข้อมูลคุณภาพสูงผ่านระบบ Cloud Security ไปจนถึงเว็บไซต์ที่เราคุ้นเคยอย่าง เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Twitter, Facebook ที่ภายหลังรูปแบบการทำงานในฟังก์ชันพื้นฐานอย่างการ แบ่งปันเรื่องราวบนหน้า Wall และตอบ Comment ของ Facebook ไปจนถึงระบบ Group และ Facebook Fanpage Analytics ที่มีระบบหลังบ้านสำหรับจัดการข้อมูลสถิติของ Fan Page นั้นมีการทำงานที่ลื่นไหลราวกับใช้แอพพลิเคชันที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่มีจังหวะของการรีเฟช (Refresh) ข้อมูลในการเปลี่ยนหน้าหรือเปลี่ยนการทำงานในแต่ละครั้ง
หากผู้อ่านเคยได้เข้าใช้บริการ Google Adsense หรือ Google Analytics จะเห็นว่าหน้าจอการทำงานของฟังก์ชันแต่ละส่วนของเว็บแอพพลิเคชันดังกล่าวบริการที่ผู้เขียนยกขึ้นมาให้เห็นข้างต้นนั้นเป็นบริการของ Google ซึ่งหากใครที่เคยใช้บริการทั้งสองนี้ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงวันนี้จะพบว่า หน้าจอการทำงานได้ถูกปรับเปลี่ยนไปมาก แทบไม่ได้มีการทำงานที่เรียกว่าเว็บไซต์ที่เป็นระบบหลังบ้านไว้สำหรับใช้แสดงผล และออกรายงาน แต่กลับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอรายงาน หรือข้อมูลสารสนเทศให้เป็นเหมือนการจำลองแอพพลิเคชันมาตรฐานที่ประมวลผลรวดเร็วบางตัวมาอยู่บนเว็บแทน อีกทั้งการออกแบบที่ดูเรียบง่าย เมนูนำสายตาผู้ใช้งานที่บอกเป็นลำดับขั้นตอน คำอธิบายที่ชัดเจนอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอีกทั้งการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้กับส่วนติดต่อผู้ใช้งานอย่าง Interface นั้นก็เป็นการแสดงผลผ่าน Ajax หรือ JQuery ที่เป็นภาษาโปรแกรมบนเว็บไซต์ที่สามารถทำให้ข้อมูลประมวลผลได้รวดเร็ว
ด้วย Interface หรือส่วนติดต่อผู้ใช้งานที่เรียบง่าย และวิธีการใช้งานที่รองรับพฤติกรรมที่ใช้ความสบายเป็นหลักของมนุษย์ ผ่านเมนูนำทาง และ Object หรือวัตถุที่สามารถทำการ “Drag and Drop” หรือที่เราเรียก ว่าการลากวางวัตถุบนแอพพลิเคชันเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกของผู้ใช้ ความเรียบง่าย ความรวดเร็ว และกิจกรรมที่สามารถจัดการได้ง่าย เข้าใจถึงความหมายของกิจกรรมโดยที่ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ได้ทันทีเบื้องต้นโดยไม่ต้องลำบากหาคู่มือมาประกอบการใช้งานเป็นสิ่งที่เว็บไซต์จำพวกระบบที่ต้องมีการใช้งานต่อเนื่องอย่าง Web-Based Application หรือแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์เหล่านี้จำเป็นต้องมีเหมือนกับทฤษฎีของพฤติกรรมผู้ใช้ในเรื่อง ความมีอคติต่อขั้นตอนการปฏิบัติบนส่วนติดต่อผู้ใช้งานที่ซับซ้อน หรือลำบากเกินไป
ต้นทุนองค์กรที่ลดลง ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมไคล์เอนท์ Client
แอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ หรือ Web-Based Application ที่ทำงานบนเว็บบราวเซอร์ไม่จำเป็นต้องพัฒนาโปรแกรมตัวกลาง หรือไคล์เอนท์ลูกข่าย ในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างกันที่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวางแผนและพัฒนาที่สูง อีกทั้งมีกำหนดเวลาในการพัฒนาไปจนถึงการส่งมอบที่ไม่แน่นอน ซึ่งต้องคำนึงถึงระบบปฏิบัติการว่า โปรแกรมไคล์เอนท์จะรองรับการทำงานบน Windows Linux หรือ Mac ได้หรือไม่ เปรียบเทียบดูแล้วแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์นั้นสามารถทำงานได้โดยใช้เพียงเว็บบราวเซอร์ที่มีอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว
Cross-Platform System การทำงานข้ามแพลตฟอร์ม
ความเป็นอิสระในการเข้าถึงไม่ว่าจะใช้ทรัพยากรภายใน ภายนอก หรือต่างองค์กรที่มีระบบปฏิบัติการหรือแพลตฟอร์มบนอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไป แอพพลิเคชันบนเว็บไซต์สามารถรองรับในการแก้ปัญหาจุดนี้ในปัจจุบันหลายองค์กรมีการรวมเทคโนโลยีหลายแพลตฟอร์มเข้ามาใช้งานร่วมกันโดยอาศัยจังหวะ และความสะดวกในเวลาที่ใช้ร่วมกับสถานการณ์ที่ต่างไป อาจจะใช้แอพพลิเคชันขององค์กรที่พัฒนาขึ้นมาบนสมาร์ทโฟนในการค้นหาข้อมูลลูกค้าในเวลาเร่งด่วนระหว่างการเดินทาง หรืออาจจะใช้ระบบเอกสารออนไลน์ดึงเอกสารสำคัญจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเซิร์ฟเวอร์องค์กรมาไว้ที่แอพพลิเคชันที่ทำการ Synchronize ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาอย่างแท็บเล็ต ไปจนถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงผ่านไฟล์เอกสารประเภท Spreadsheet ผ่านระบบ Office 2.0 บนบริการ Cloud โดยใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท๊อปในเวลาที่คุณกำลังนั่งรอคู่ค้าที่ร้านอาหาร หรือเปิดไฟล์เอกสารสัญญาให้คู่ค้าในร้านกาแฟซักแห่ง
คุณสมบัติในเรื่องของการทำงานข้ามแพลตฟอร์มนั้นถือว่าเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงที่สุดของแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ เพราะประเด็นในเรื่องความสะดวกสบายของแอพพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดผ่าน Application Store อย่าง Apple App Store ของ Apple ที่ให้บริการอยู่ในเครื่องสมาร์ทโฟน iPhone และเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาอย่าง iPad นั้นมีอัตราที่สูง และแนวโน้มที่เติบโตกว่า การเปิดใช้แอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ผ่านบราวเซอร์ บนสมาร์ทโฟน ด้วยข้อจำกัดบางส่วนของบราวเซอร์บนสมาร์ทโฟนอาจจะทำให้บางฟังก์ชันของแอพพลิเคชันบนเว็บนั้นไม่สามารถทำงานได้เต็ม 100% แม้จะเป็นข้อจำกัดที่ด้อยกว่าหลายขุมของแอพพลิเคชันบนเว็บ เมื่อเปรียบเทียบกับแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถึงทางตันซักทีเดียวกับแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ เพราะสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้นมีบราวเซอร์ที่รองรับมาตรฐานของเว็บไซต์ที่เรียกว่า HTML5 ที่จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และความหวังใหม่ของกลุ่มนักพัฒนาแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์
HTML5 จะเป็นมาตรฐานที่ยกระดับเว็บ ให้เหนือแอพฯ บนสมาร์ทโฟน
HTML5 นั้นถือว่าเป็นมาตรฐานหลักของเว็บไซต์ที่จะพัฒนาโครงสร้างยกระดับให้สูงขึ้นไปจากมาตรฐาน HTML เดิม ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ HTML5 อยู่ในระหว่างขั้นตอนในการพัฒนา แต่เว็บบราวเซอร์อย่าง Safari และเว็บบราวเซอร์ตัวอื่นที่เริ่มทยอยออกมาในตอนนี้อย่าง Firefox, Chrome และ IE9 นั้นเริ่มมีฟังก์ชันในการจัดระเบียบเนื้อหา การแสดงผล และกิจกรรมโต้ตอบของโครงสร้างภาษาบนเทคโนโลยีเว็บไซต์ที่รองรับ HTML5 แล้วมากกว่า 70% ตั้งแต่เว็บบราวเซอร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจนถึงเว็บบราวเซอร์บนสมาร์ทโฟน ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบดูแล้วจะพบว่าการพัฒนาแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนให้ไปปรากฏบน App Store ของ apple นั้นเป็นเรื่องที่ลำบากในขั้นตอนการพัฒนาระดับหนึ่ง นั่นคือ
- ต้องพัฒนาด้วยเครื่อง Mac เท่านั้นซึ่งนักพัฒนาบางคนก็ไม่สะดวกที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโปรแกรมและแอพพลิเคชันเป็นระบบปฏิบัติการอื่นกลับไปกลับมาบ่อยนัก
- ขั้นตอนการนำขึ้นบน App Store นั้นต้องใช้เวลาอีกทั้งต้องทำตามระเบียบข้อบังคับที่ทาง Apple ได้กำหนดไว้หากมีการไม่ถูกตามข้อกำหนดแอพพลิเคชันจะถูกดองไว้นานพอสมควร
- บางครั้งประเภทของการทำงานบนแอพพลิเคชันที่พัฒนาจำเป็นต้องออนไลน์ เสมอไม่ต่างอะไรจากเล่นบนเว็บ
จะเห็นได้ว่าทางเลือกที่นักพัฒนาจะพัฒนาแอพพลิเคชัน ที่ทำงานบนแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มของบนสมาร์ทโฟนได้ก็ต้องเป็น Web-Based Application เท่านั้นเพียงแค่ต้องหา Solution ในการแบ่งการแสดงผลออกเป็น 2 ช่องทางคือเว็บไซต์ และหน้าจอสมาร์ทโฟน โดยที่การทำงานหลัก และข้อมูลที่จะนำมาแสดงผลนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพอจะแนะนำให้ได้คือ ชุดพัฒนา jQTouch เป็นชุดพัฒนาแอพพลิเคชันบนเว็บที่แสดงผลได้ดีบนสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถไปดาวน์โหลดชุดพัฒนามาลองแก้ไขปรับแต่งเนื้อหา หรือสามารถไปลองรีวิวตัวเดโมผ่านเครื่องสมาร์ทโฟนของคุณได้ที่เว็บไซต์ของ jQTouch เองได้ทันทีที่ http://www.jqtouch.com ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ในเรื่องข้อจำกัดของทรัพยากรบนแพลตฟอร์มของนักพัฒนาได้ดีที่สุด และชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างดีทีเดียว
HTML, SaaS Web-Based Application โปร่งใสในเรื่องงบประมาณจัดซื้อ
ผู้อ่านคนไหนที่สนใจจะใช้งานแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ หรือ Web-Based Application สามารถบอกลาคำว่า “คอร์รัปชั่น” ภายในองค์กรได้เลย เพราะต่อจากนี้ไปการจัดซื้อใช้ซอฟท์แวร์ หรือแอพพลิเคชันในการทำงานของส่วนแพลตฟอร์มที่ยกมานี้จะทำงานได้ ผู้อ่านสามารถจัดการ และตัดสินใจในการเลือกใช้แอพพลิเคชัน โดยวัดจากฟังก์ชันการทำงาน และเปรียบเทียบระบบงานเดิมว่ากระทบมากน้อยเพียงใด สุดท้ายก็อยู่ที่วิจารณญาณในการตัดสินใจในเรื่องราคา แต่ต้องรู้ไว้ว่าการเลือกใช้แอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ในตอนนี้นั้น ไม่สามารถสร้างรายได้ผ่านแอพพลิเคชันเพราะ หากลงป้ายโฆษณา Banner ที่หน้าจอแอพพลิเคชันบนเว็บนี้แล้ว หน้าจอแทบไม่มีการรีเฟชแน่นอนมีผลกับ Page View แน่นอนดังนั้นแอพพลิเคชันบนเว็บที่ทำงานอย่าง Real-time นั้นทำเงินไม่ได้
นอกจาก Web-Application แล้วมีอะไรบนเว็บไซต์อย่างอื่นอีกไหมที่เปลี่ยนไป
นอกจากการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันในการประมวลผล ทำงาน และรองรับทุกแพลตฟอร์มของแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ที่ผู้เขียนได้ยกมาแล้ว ก็อาจจะพูดได้ว่าคงต้องใช้เวลาในการรอคอยให้ HTML5 เสถียรก่อนเพื่อจะได้เห็นความต่างว่าเหมาะสมที่จะเข้ามาตอบโจทย์ทดแทนแอพพลิเคชันที่ทำงานได้ทุกแพลตฟอร์มอย่างแอพพลิเคชันบนเว็บไซต์ได้หรือไม่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในตอนนี้คือ ลูกเล่นของเว็บบราวเซอร์ที่ทุกค่ายล้วนยกคุณสมบัติด้านนี้ ที่พยายามจะผลักดันให้เว็บบราวเซอร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์มีการทำงานเหมือนแอพพลิเคชัน เพื่อสนองพฤติกรรมการรับข่าวสารผ่านอักษรแนะนำ หรือ Text Based ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่นับวันจะมีพฤติกรรมเคยตัวแบบนี้มากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบริการแปลกตาจากเว็บบราวเซอร์จากฝั่ง Google อย่าง Chrome ที่อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจาก Application Market Place บนแพลตฟอร์ม Android ของตน จนต้องฝังใจมาทำ Chrome Web Store ที่รวมแอพพลิเคชันที่พูดได้ว่าเป็นของเล่นสนุกไว้ติดตั้งทำงานร่วมกับ บราวเซอร์ Chrome ได้ทันที ซึ่งแอพพลิเคชันเหล่านี้ผู้ใช้งานสามารถพัฒนาปรับแต่งได้เองอีกด้วย
เห็นอย่างนี้แล้วผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่ Google เปลี่ยนสถานะของเว็บบราวเซอร์ผู้ดีของตนอย่าง Chrome ให้มีบริการ App บน Web Store คล้าย Android Market Place คงไม่ได้นึกทำขึ้นมาเอาสนุกให้เหมือนสมาร์ทโฟน และก็คงไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อเพิ่มช่องทางให้คนเข้ามาใช้ Traffic บนเว็บไซต์แต่อย่างใด กลยุทธ์ครั้งนี้ต้องมีนัยแอบแฝงแน่นอนใครจะไปรู้ว่าในอนาคตสมาร์ทโฟน และ เว็บไซต์อาจจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ได้ มีแค่ตัวเครื่อง และบราวเซอร์ส่วนการทำงานหลักของเครื่องทั้งสองแพลตฟอร์มนั้นอาจจะอยู่บน Cloud ก็เป็นได้