Lifestyle'nTrend

ทำไมใครๆ ก็อยากได้ iPad

รายงานเมื่อเร็วๆ นี้จาก Strategy Analytics บริษัทวิจัยชื่อดังชี้ให้เห็นว่า ในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมายอดการจัดส่งแท็บเล็ตทั่วโลกคิดเป็น 15 ล้านหน่วย แท็บเล็ต Android สามารถทำส่วนแบ่งตลาดได้ 4.6 ล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 30.1 ของยอดทั้งหมด ในขณะที่ iPad สามารถทำได้ 9.3 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 61.3 ส่วนที่เหลือก็คือ แท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการตัวอื่นลดหลั่นกันไป

แล้วแท็บเล็ตอื่นจะไม่มีโอกาสแจ้งเกิดเลยหรือ?

ถ้ามองอย่างผิวเผิน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แท็บเล็ต Android สามารถทำส่วนแบ่งตลาดได้อย่างน่าประทับใจภายในระยะอันสั้น แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้ว ตัวเลขที่กล่าวมาเป็นยอดที่ผู้ผลิต “จัดส่ง” (Shipment) ไปให้กับร้านค้าปลีก ไม่ใช่ “ยอดขาย” ที่ผู้บริโภคซื้อไปใช้งานจริง ตรงกันข้ามในการแถลงผลประกอบการในไตรมาสล่าสุดของ Apple ที่ผ่านมา ทางบริษัทย้ำว่าสามารถ “ขาย” iPad ไปได้ถึง 9.25 ล้านหน่วย ซึ่งตรงกับยอดจัดส่งที่กล่าวไปพอดี ฉะนั้นถ้ารายงานจาก Strategy Analytics ไม่มีความผิดพลาด นั่นหมายความว่า Apple ผลิต iPad แทบไม่ทันขายเลยทีเดียว

เสียงตอบรับของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์จาก Apple นั้นสร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาผู้สังเกตการณ์ทั่วโลก ลองนึกภาพดูว่ากี่ครั้งแล้วที่เราเห็นผู้คนเข้าคิวยาวเหยียดหน้าร้าน Apple Store ในวันแรกที่สินค้าวางจำหน่าย หรือกี่ครั้งแล้วที่เราเห็นมูลค่าหุ้นของ Apple พุ่งขึ้นในทุกครั้งที่ทางบริษัทแถลงเปิดตัวสินค้าชิ้นใหม่ เสียงตอบรับที่ยอดเยี่ยมนี้ได้รับการตอกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าจากผลการสำรวจที่มีมาให้เห็นเป็นระยะ

เมื่อเร็วๆ นี้ผลสำรวจจาก Bernstein Research พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่าง 200 คนในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเลือกที่จะเป็นเจ้าของ iPad แทนที่จะเป็นแท็บเล็ตจากแบรนด์อื่น โดยผู้ทำการสำรวจให้ความเห็นว่า “ผู้บริโภคไม่มีความสนใจฟอร์มแฟ็คเตอร์อื่นที่แตกต่างไปจากมาตรฐาน (Benchmark) ที่ Apple ได้สร้างไว้ให้กับ iPad”

แล้วมาตรฐานดังกล่าวคืออะไร?

มีหลายคนเคยให้ความเห็นว่า การตลาดที่สุดยอด ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่หรูหรา รวมทั้งบุคลิกและความสามารถในการนำเสนอที่น่าหลงใหลของ Steve Jobs นั้นร่วมกันผลักดันให้สินค้าของ Apple โดยรวมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่ถ้าเรายก iPad มาเป็นตัวอย่างแล้วจะพบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สินค้าของค่ายนี้สามารถทำได้เหนือกว่านอกจากปัจจัยที่กล่าวไป

เมื่อเร็วๆ นี้ iSuppli บริษัทวิจัยการตลาดด้านห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบการออกแบบ iPad ทั้งรุ่นหนึ่งและสองโดยเทียบกับคู่แข่งได้ผลสรุปมาสั้นๆ ว่า ในแง่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์แล้วไม่มีค่ายใดสามารถสู้ Apple ได้เลยสักค่ายเดียว

กล่าวคือ iSuppli ได้ให้เครดิตส่วนใหญ่ไปที่การออกแบบภายใน ซึ่งทาง Apple ทำและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่การคัดสรรฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นไปจนถึงระบบปฏิบัติการที่ทำให้ระบบโดยรวมมีความเสถียรและปลอดภัยสูง นอกจากนั้นการเลือกที่จะปรับแต่งโปรเซสเซอร์และระบบปฏิบัติการเองก็มีส่วนทำให้ความต้องการทรัพยากรจากหน่วยความจำน้อยกว่าจากค่ายอื่น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนลงไปได้ถึง 14 เหรียญสหรัฐต่อหน่วย และนี่เองที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ทางบริษัทสามารถคงราคาขายมาตรฐานไว้ที่ 499 เหรียญได้

ในทางตรงกันข้าม ผู้ผลิตรายอื่นนั้นถึงแม้จะสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ได้ดีกว่า มีตัวเลือกรวมทั้งลูกเล่นการเชื่อมต่อภายนอกได้มากกว่าก็จริง แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์แล้วยังคงต้องพึ่งพาค่ายอื่นอย่าง Google และ Microsoft อยู่ดี ซึ่งเท่าที่ผ่านมาทั้งคู่ต่างประสบปัญหาการทำให้ระบบปฏิบัติการของตนทำงานเข้ากับฮาร์ดแวร์ที่มีความหลากหลายได้อย่างไร้รอยต่อ และถึงแม้ทั้งคู่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ด้วยการระบุสเป็กของฮาร์ดแวร์ให้กับผู้ผลิตนำไปใช้ แต่ก็กลับกลายมาเป็นดาบที่ทิ่มแทงตัวเอง เพราะเท่ากับว่าสินค้าที่แต่ละผู้ผลิตทำออกมาแทบจะไม่มีความแตกต่าง ความไร้ซึ่งจุดเด่นแบบนี้เป็นผลให้สมาร์ทโฟน Windows Phone 7 ไม่สามารถทำส่วนแบ่งตลาดได้มากอย่างที่หวังไว้

ประสบการณ์ใช้งาน ปัจจัยหลักที่หลายฝ่ายมองข้าม

บางท่านอาจแย้งว่า แท็บเล็ตอื่นอย่าง Playbook จาก RIM และ TouchPad จาก HP น่าจะเข้าข่ายเดียวกับ Apple ได้ เพราะทั้งคู่ต่างทำทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ (QNX สำหรับ Playbook และ WebOS สำหรับ TouchPad) เองเช่นกัน แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่นับว่าเป็นมาตรฐานหลักของอุปกรณ์พกพาไปแล้วก็คือ ประสบการณ์ใช้งานที่ต้องทำให้ง่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายค่ายกำลังประสบอยู่

เมื่อเร็วๆ นี้เว็บไซต์ Boy Genius Report (BGR) ได้ลงจดหมายเปิดจากพนักงานนิรนามของ RIM ที่มีต่อซีอีโอร่วมทั้งสองคือ Jim Balsillie และ Mike Lazaridis โดยมีใจความหลักส่วนหนึ่งคือ เรียกร้องให้ RIM เปลี่ยนวิธีการคิดออกแบบผลิตภันฑ์ BlackBerry เสียใหม่ ส่วนหนึ่งของคำร้องขอคือ ให้ทางบริษัทเน้นไปที่การเพิ่มประสบการณ์ใช้งานให้กับผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้นแทนที่จะเอาใจแต่คู่ค้าเหมือนปัจจุบัน โดยได้ยกตัวอย่างคู่แข่ง เช่น Apple ว่าเป็นเพราะทางบริษัทเน้นไปที่การพัฒนาประสบการณ์ใช้งานอันยอดเยี่ยมและการทำให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ว่าสินค้าตัวนี้จะช่วยเติมเต็มไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ได้อย่างไร ซึ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เราเห็นคนต่อคิวยาวข้ามวันข้ามคืน เพื่อให้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนแรกที่ได้เป็นเจ้าของสินค้าตัวใหม่

นอกจากนั้น จดหมายยังกล่าวโจมตี RIM อย่างรุนแรงว่าทำการตลาดอย่างขึ้เกียจ เพราะว่าเน้นชูคุณสมบัติทางเทคนิคที่กำกวมอย่างรองรับ Adobe Flash Multitasking หรือชิปประมวลผลดูอัลคอร์ พร้อมกับยกตัวอย่าง Linux ที่ถึงแม้จะมีคุณสมบัติมากมายเทียบมาตรฐานคู่แข่ง แต่ก็ประสบปัญหาเดียวกันคือ เข้าใจและใช้งานยาก สำหรับบุคคลทั่วไปจึงทำให้ไม่สามารถสร้างที่ทางของตนในตลาดได้มากนัก

จดหมายเปิดนี้นับเป็นตัวอย่างเสียงสะท้อนจากคนในที่แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ใช้งานที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต อย่างไรก็ดี RIM ก็ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ซะทีเดียว เพราะการที่ตัดสินใจนำระบบปฏิบัติการ QNX มาใช้กับแท็บเล็ตแทนที่จะเป็น BlackBerry OS แบบเดียวกับสมาร์ทโฟนนั้นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าทางบริษัทตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคดี ทว่าทางบริษัทกลับก้าวพลาดด้วยการไม่ใส่แอพพลิเคชั่นอีเมลมาให้ ผู้ใช้จำต้องเปิดบราวเซอร์เพื่อเช็กอีเมลแทน ซึ่งถึงแม้ว่าจะใช้แทนกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นการตัดความสะดวกสบายอย่างการแจ้งเตือนอีเมลเข้าที่แอพพลิเคชั่นสามารถมอบให้ ซึ่งนับว่าเป็นข้อตำหนิอย่างไม่น่าให้อภัยที่เกิดขึ้นกับ RIM

สำหรับระบบปฏิบัติการอื่นนั้นก็ถูกวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันคือ ไม่สามารถมอบประสบการณ์ใช้งานได้ถึงขั้น โดยเฉพาะการตอบสนองต่อหน้าจอระบบสัมผัส ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อดีของระบบปฏิบัติการ Android คือ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ได้หลายประเภท แต่ผลคำวิจารณ์หลายแห่งและการทดลองใช้งานโดยผู้เขียนเองนั้นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การตอบสนองบนหน้าจอยังปรากฏอาการแล็ก และแอพพลิเคชั่นยังมีการแฮงค์บ้าง

ในแง่ของผู้ที่มีประสบการณ์ใช้งานคอมพิวเตอร์มานานก็ยังพอรับได้ แต่กับบุคคลทั่วไปนั้นข้อสังเกตนี้ไม่นับเป็นเรื่องที่ดีเลย ดังที่เคยได้ยินว่าความประทับใจแรกเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับ WebOS นั้น เริ่มแรกถูกมองว่าน่าจะมาเป็นคู่แข่งกับ iOS จาก Apple ได้อย่างไม่ยาก เพราะมีพื้นฐานโครงสร้างที่ดีจาก Palm อดีตเจ้าพ่อ PDA รายแรกๆ ที่เจาะตลาดได้ ทว่าพอ TouchPad วางขายก็กลับได้รับคำวิจารณ์ไปในลักษณะเดียวกันว่าความไวในการตอบสนองยังไม่ดีพอ

แต่ทั้งนี้ ถ้ามองอย่างยุติธรรมก็พอเข้าใจได้ว่า ทั้ง Android และ WebOS บนแท็บเล็ตยังเป็นระบบปฏิบัติการน้องใหม่มาก ไม่เหมือนกับ iOS ที่ Apple เก็บค่าประสบการณ์มาอย่างโชกโชนเพราะถูกใช้ใน iPhone มาก่อน และโครงสร้างของระบบเองก็ไม่ใช่ของใหม่หมดจด เนื่องจากได้รับการปูพื้นมาจาก OS X บน iMac ที่ขึ้นชื่อด้านความเสถียรมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นก็ยังไม่สายเกินไปที่คู่แข่งจะสามารถพัฒนาประสบการณ์ใช้งานโดยเฉพาะด้านความไวในการตอบสนองให้เทียบเคียงได้

แอพพลิเคชั่น และ Ecosystem ปัจจัยประกอบที่จำเป็น

แอพพลิเคชั่น และ Ecosystem ปัจจัยประกอบที่จำเป็น

เป็นความจริงที่ว่าถ้าไม่มีแอพพลิเคชั่น แท็บเล็ตก็คงไม่แตกต่างอะไรจากกรอบรูปดิจิตอลหรือเครื่องเล่น MP3 ขนาดยักษ์ ฉะนั้นแล้วถ้าแท็บเล็ตใดสามารถรองรับแอพพลิเคชั่นได้หลากหลายกว่าก็จะส่งผลดีต่อผู้ซื้อ เพราะเหมือนกับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และสำหรับนักพัฒนาเองนั้นการที่แพลตฟอร์มใดสามารถมอบเครื่องมือช่วยเหลือที่ยืดหยุ่นกว่าก็ยิ่งได้ใจไปเต็มๆ

ขอย้อนกลับไปที่จดหมายเปิดของพนักงาน RIM อีกสักครั้ง เพราะนอกจากเนื้อหาที่กล่าวไปแล้วในเนื้อความยังตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับชุดเครื่องมือในการพัฒนา (SDK) ของ BlackBerry ว่าล้าหลัง โดยเปรียบเหมือนกับ Ford Explorer ยุค 90 ในขณะที่ของ Apple เหมือนกับ BMW M3 ที่มอบความพอใจในการขับขี่ได้มากกว่า

พูดง่ายๆ คือ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นของ BlackBerry ในปัจจุบันสามารถทำได้ลำบากมาก ส่งผลให้ผู้พัฒนาบางรายเริ่มตีจากไป อย่างเช่น Seesmic แอพพลิเคชั่นประเภท Third-Party Client ของ Twitter ได้ประกาศแล้วว่าจะเลิกทำเวอร์ชั่น BlackBerry ถ้า RIM ไม่รีบทำอะไรสักอย่าง Seesmic อาจไม่ใช่รายแรกและรายเดียว ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าทางบริษัทจะไม่ทำอะไรซ้ำรอยเดิมกับแพลตฟอร์ม QNX ที่ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังมีแอพพลิเคชั่นน้อยอยู่ แต่เชื่อว่าถ้า RIM เอาจริงกับแพลตฟอร์มนี้อนาคตก็คงสดใสไม่แพ้แพลตฟอร์มอื่น

จะว่าไปแล้ว ปริมาณมากน้อยของแอพพลิเคชั่นนั้นสามารถมองได้สองแง่ ในมุมมองของผู้บริโภค ปริมาณที่มากกว่าย่อมหมายถึงตัวเลือกที่เยอะกว่า แต่สำหรับผู้พัฒนาก็อาจเป็นฝันร้ายเพราะหมายถึงการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับแพลตฟอร์มที่มีแอพพลิเคชั่นน้อยกว่าที่ถึงแม้ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกน้อยลง แต่นั่นก็หมายถึงโอกาสที่แอพพลิเคชั่นแต่ละตัวจะมีความโดดเด่นมากขึ้นเช่นกัน การแปรผันตรงกันข้ามเช่นนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่เจ้าของแพลตฟอร์มต้องคำนึงถึง

อย่างไรเสีย เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า iPad สามารถคงทั้งปริมาณและคุณภาพของแอ็พพลิเคชั่นใน App Store ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณที่แตะหลักแสน หรือแอ็พพลิเคชั่นประเภท Exclusive ที่มีแต่เฉพาะแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น รวมทั้งคงมีแอ็พพลิเคชั่นน้อยมากที่มีบนแพลตฟอร์มอื่นแต่ไม่มีบน iPad หรือถึงมีก็ไม่นับว่าเป็น Killer แต่อย่างใด

นอกจากแอพพลิเคชั่นแล้วองค์ประกอบเล็กๆ อื่นภายในภาวะแวดล้อมก็มีส่วนช่วยให้แพลตฟอร์มนี้ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นการหลอมรวมรับบริการบนเว็บฯ อื่นๆ ที่หลากหลาย การซิงค์ไฟล์ไปยังบนเดสก์ทอปทั้งแม็คและพีซีที่สามารถทำได้ง่ายดาย การจับจ่ายบนร้านค้าออนไลน์เพียงคลิกเดียว รวมทั้งอุปกรณ์เสริมแต่งทั้งหลายอย่างเคส ที่ชาร์จ ด็อกกิ้ง ขาตั้ง ลำโพง และสารพันอแดปเตอร์ต่างๆ ที่หาซื้อได้ง่ายและมีให้เลือกหลากหลายล้วนเป็นการตอบคำถามอย่างดีว่าทำไมใครๆ ถึงอยากได้แต่ iPad

แล้วแท็บเล็ตอื่นจะไม่มีโอกาสแจ้งเกิดเลยหรือ?

คำตอบคือ มี แต่ด้วยข้อแม้ว่าจะต้องมอบประสบการณ์ใช้งานและมี Ecosystem รองรับดีไม่แพ้ iPad ทั้งสองอย่างนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถหาคำตอบได้เพราะติดว่าส่วนใหญ่มีประสบการณ์จากการขายฮาร์ดแวร์อย่างเดียว ในแง่นี้ Amazon จึงนับเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองมากที่สุด เพราะทางบริษัทมีความพร้อมมากและผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชนจากการเป็นร้านค้าออนไลน์

ปัจจุบันทางบริษัทมีทั้งบริการขายอีบุ๊ก เพลง ภาพยนตร์ แอพพลิเคชั่น เช่าเซิร์ฟเวอร์คลาวด์ และ Kindle เองก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากในหมู่อีรีดเดอร์ด้วยกัน รวมทั้งชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนาน ถ้า Amazon สามารถนำปัจจัยเหล่านี้มาหลอมรวมเป็นประสบการณ์ใช้งานที่สุดยอดได้ รับรองว่า Apple คงเจอคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกว่าแน่นอน

งานเขียนนี้ตีพิมพ์บนนิตยสาร E-commerce Magazine ฉบับที่ 153

Profile ผู้เขียน

falcon_mach_v -สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 ชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กและบ้าคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แต่เนื่องจากชอบอ่านข่าวและบทความตามเว็บไซต์มากกว่านั่งเขียนโปรแกรมจึงได้ตัดสินใจเรียนด้านนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ และเป็นนักเขียนบทความไอทีอิสระให้กับสื่อต่างๆ

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน