เป็นข่าวที่ได้ยินกันบ่อยๆ เรื่องการแบนเครื่องมือการสื่อสารอย่างโซเชียลมีเดียในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกรณีของประเทศซีเรียที่ก็มีคำสั่งให้มีการแบนอะไรทำนองนี้เช่นกัน เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นที่ฮือฮาขึ้นมาอีกนิดก็คือครั้งนี้รัฐบาลซีเรียไม่ได้แบนโซเชียลมีเดียหรือช่องทางการสื่อสารเหมือนกับประเทศอื่น แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลซีเรียตัดสินใจสั่งแบนมือถือยอดนิยมแห่งยุคอย่าง iPhone
เหตุแห่งเรื่องนี้มีอยู่ว่ารัฐบาลได้รับข้อมูลมาว่าผู้ประท้วงในประเทศซีเรียนั้นเผยแพร่เหตุการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้นผ่านการอัปโหลดรูปภาพและคลิปวิดีโอผ่านทางสมาร์ทโฟน iPhone ในฐานะสมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งจึงถูกสั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายในประเทศซีเรียอย่างเด็ดขาด แน่นอนว่ามือถือรุ่นอื่นๆ ก็คงจะทยอยโดนแบนตามๆกันซึ่งเรื่องนี้นักเคลื่อนไหวในประเทศซีเรียได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศซีเรียจะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับทันทีเพียงแค่มี iPhone อยู่ในมือ และแม้คุณจะเป็นนักท่องเที่ยวคุณก็จะต้องตกอยู่ในมาตรการนี้ด้วยเช่นกัน
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงนี้ก็เนื่องมาจากในช่วงปีที่ผ่านมานิตยสาร TIME ได้ทำการคัดเลือก Person of the Year ประจำปี 2011 ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเลือกก็คือ “Protestors” แน่นอนว่ามันย่อมจะหมายถึงการประท้วงลุกฮือที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ทั่วโลก และเบื้องหลังการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ย่อมจะมีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองขับเคลื่อนควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในแทบทุกครั้งก็คือมาตรการสั่งปิด
เรื่องการแบนอะไรพวกนี้นั้นจริงๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ชัดๆ ก็ที่ประเทศจีนซึ่งทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังกับเสิร์จเอนจิ้นชื่อก้องโลกก็ไม่สามารถฝ่าปราการกำแพงเมืองจีนเข้าไปแจ้งเกิดได้ ประเทศบังคลาเทศก็เคยสั่งปิด Facebook เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่มีการแผยแพร่ภาพล้อเลียนองค์ศาสดาในศาสนาอิสลามและผู้นำประเทศ นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย เลบานอน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างก็มีคำสั่งแบนเจ้ามือถือ Blackberry และ BB Services ซึ่งก็รวมทั้งการ Chat บน BBM และ BB Pushmail ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยและเพื่อป้องกันการก่อร้าย
คำถามคือเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่ กรณีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและการปิดอินเตอร์เน็ต ในอียิปต์น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดี เพราะแม้ช่องทางการสื่อสารสำคัญทั้งสองช่องทางจะถูกปิดกั้น แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นไม่ได้ถูกสร้างมาให้ยอมแพ้อะไรง่ายๆ โดยทาง Twitter ก็ได้ออกมาโต้ตอบเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการออกโปรแกรมพิเศษออกมารองรับที่ชื่อ Speak-2-Tweet ที่ชาวอียิปต์สามารถใช้โทรศัพท์บ้าน หรือ โทรศัพท์สาธารณะ โทรไปที่เบอร์ที่ทาง Twitter เตรียมไว้ให้ ซึ่งจะสามารถทำการบันทึกเสียงผ่านเบอร์เหล่านั้นได้ โดยจะสามารถบันทึกได้เป็นเวลา 30 วินาที แล้วเสียงที่บันทึกเหล่านี้ก็จะถูกนำขึ้นไปอยู่ใน Twitter
เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากที่ทุกวันนี้โลกหมุนไปไกลแสนไกลจากในอดีต แต่บางแห่งบนโลกก็ยังพยายามที่จะล๊อคให้มันหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะการบล็อกช่องทางการสื่อสารไม่น่าจะใช่ทางออกหรือคำตอบที่ถูกต้องสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ว่าเหตุผลของการแบนในแต่ละประเทศจะฟังดูแล้วสมเหตุสมผลแค่ไหน แต่ความจริงเบื้องหลังก็คือรัฐบาลและผู้มีอำนาจนั้นไล่ตามรูปแบบการสื่อสารสมัยใหม่ไม่ทัน ก็เลยเลือกแสดงออกด้วยการสั่งห้ามสถานเดียว แต่ความจริงที่เกิดขึ้นขณะนี้เราต่างรู้ก็กันว่าการจะยับยั้งการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ การระงับการเข้าถึงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของคน และดำรงอยู่ได้ก็เพราะว่ามันสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ซึ่งก็คือคนทั่วๆ ไปในสังคมได้ และเพราะรูปแบบการสื่อสารบนโลกทุกวันนี้แทบจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างแยกไม่ออก การปฏิเสธวิถีที่ดำเนินอยู่นี้จึงเท่ากับปฏิเสธวิถีโลก ซึ่งการจะปฏิเสธนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าการเลือกยอมรับนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ากันเยอะ
ขอขอบคุณ @ironny จาก TrueLife Magazine, i3