Crowdsourcing แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าจะให้บอกเผื่อสำหรับท่านที่ยังไม่รู้ Crowdsourcing ก็คือการรวมตัวของกลุ่มคนบนโลกออนไลน์ที่อาจจะรู้จักกันบ้างไม่รู้จักกันบ้างเพื่อมาร่วมกันทำอะไรบางอย่าง บางอย่างที่ว่านั้นมีตั้งแต่การช่วยกันแก้โจทย์คณิตศาสตร์ การระดมความเห็นยื่นเรื่องแก้กฎหมาย การขอไอเดียในการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างเหล่านี้อาจจะดูเครียดไปสักนิด แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา ซึ่งการใช้พลังจากฝูงชนบน Social Network นั้นเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลายสิ่งหลายอย่าง แม้แต่เรื่องของการทำหนัง
หนังที่เป็นที่เกรียวกราวเมื่อปลายที่ผ่านมาเนื่องมาจากมีการใช้ Crowdsourcing ก็คือโครงการภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Life in a Day ซึ่งเป็นผลงานการกำกับร่วมของ Ridley Scott และ Kevin Macdonald ซึ่งมีการนำกลวิธีแบบ Crowdsourcing มาใช้โดยการเปิดให้คนทั่วโลกส่งคลิปวิดีโอของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2010 มายังโปรเจ็กต์ Life in a Day เพื่อให้ทางทีมงานได้สามารถคัดเลือกและนำคลิปเหล่านี้มาตัดต่อเป็นภาพยนตร์ ที่เล่าถึงเรื่องราวของชีวิตของคนทั่วโลกในวันเดียวตามที่ชื่อเรื่องได้บอกไว้
โปรเจกต์ที่เริ่มตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2011 และเปิดให้ผู้คนทั่วโลกได้รับชมในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2011 นี้ ผ่านทางสถานีที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุคสมัยอย่าง YouTube (จริงๆ แล้ว Life in a Day มีการฉายก่อนหน้านั้น โดยเป็นการฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance ในช่วงต้นปี 2011) นั้นความยากคงอยู่ที่การคัดเลือกคลิปวิดีโอที่น่าจะต้องระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ เพราะคลิปที่ส่งเข้ามานั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล
จากข้อมูลที่ทางโครงการเปิดเผยมา พบว่าโครงการ Life in a Day นั้นมีผู้เข้าร่วมมาจากประเทศต่างๆ ถึง 140 ประเทศ และคลิปวิดีโอในวันที่ 24 กรกฎาคม 2011 ที่มีการส่งมายังโครงการนั้นมีจำนวนมากถึง 80,000 คลิป ซึ่งหากเอาคลิปทั้งหมดมาเรียงต่อกันแล้วจะมีความยาวรวมกันแล้วถึง 4,500 ชั่วโมง ซึ่งจาก 4,500 ชั่วโมงนี่จะถูกตัดต่อให้เหลือเป็นภายยนตร์ยาว 94 นาที นั้นคงไม่ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ยากขนาดไหน
ก่อนหน้า Life in a Day นั้นก็เคยมีการสร้างหนังจากกลวิธีแบบ Crowdsourcing อยู่เหมือนกัน ซึ่งถ้าจะค้นกันจริงๆ ก็คงจะมีอยู่หลายเรื่อง แต่จะขอพูดถึง หนึ่งในโปรเจ็กต์ของเทศกาลศิลปะของกรุงอีดินเบิร์ก 2010 “life.turns ซึ่งเป็นหนังสต็อปโมชั่นเก๋ๆ ที่มีคนกว่า 1,200 คนมาร่วมกันถ่ายรูปท่าเดินของตนส่งมาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ โดยทางเจ้าของโปรเจ็กต์นั้นจะมีต้นแบบท่าทางการเดินให้ทั้งหมด 8 ท่าทาง ให้เราเลือกถ่ายรูปตามแล้วอัพโหลดรูปไปยังโปรเจ็กต์
จากตัวอย่างทั้งสองเรื่องที่หยิบยกมาพูดถึงนี้จะเห็นว่าการนำวิธีการแบบ Crowdsourcing นั้นมาใช้กับการทำหนังนั้นยังเป็นเรื่องที่จำกัดเฉพาะในวงการศิลปะซะมากกว่า ฉะนั้นหนังแบบ Crowsourcing จึงมักจะเกิดเป็นเฉพาะโปรเจ็กต์ๆ ไปเท่านั้น เพราะเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีหนังเรื่องไหนที่ฉายในโรงทั่วไปแล้วใช้วิธีการสร้างแบบ Crowdsourcing ไม่ว่าจะเป็นหนังฮอลลีวู้ดหรือว่าหนังไทยก็ตาม
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดที่ว่ามานั้นไม่ถือเป็นอุปสรรคสำหรับ YouTube ซึ่งจะว่าไปแล้ว YouTube อาจถือเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดหนังแบบ Crowdsourcing นี้เช่นกัน ซึ่งถ้าคุณผู้อ่านสนใจ “หนังร่วมสร้าง” แบบนี้ละก็ลองเข้าไปหาชมใน YouTube กันดูได้ เพราะยังมีการนำวิธีการระดมฝูงชนมาใช้ในการสร้างหนังอีกหลากหลายวิธี แล้วคุณจะทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในนั้น เพราะสิ่งที่เราจะได้เห็นนั้นมันป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยคิดว่าเป็นไปได้ แต่ที่สุดแล้วมันก็สามารถเป็นจริงได้ด้วยพลังของฝูงชนบนโลกออนไลน์
ขอขอบคุณ คุณ Tamaho จากทีม TrueLife Magazine ครับ