เทรนด์ของเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Technology นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นความยากสำหรับหลายๆ องค์กร ซึ่งในฟากผั่งองค์กรธุรกิจนั้นก็เริ่มที่จะตระหนักถึงปัญหาวิกฤติพลังงาน โดยเฉพาะฝั่งวงการไอทีที่ถูกตั้งคำถามไม่น้อยถึงผลกระทบของเทคโนโลยีที่ไปเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและปัญหาสภาพแวดล้อม
บรรยายภาพ: ทิศทางการเติบโตของ Microsoft กับเทคโนโลยี Cloud Computing
แนวคิดเรื่อง On-Demand ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นสำหรับปฏิบัติการที่ท้าทายนี้ ซึ่งเทคโนโลยีที่อยู่แถวหน้าของแนวคิดดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้น Cloud Computing และการประมวลผลฮาร์ดแวร์แบบใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเริ่มทำได้จริงเร็วที่สุดกับองค์กรที่พร้อมจะก้าวเข้ามาอยู่ในปฏิบัติการ Green Technology ถ้าจะพูดถึงบริษัทที่ขึ้นชื่อในเรื่องการเปลี่ยนหัวลูกศรหันมาจับเทคโนโลยีสีเขียว หรือ Green Technology อย่างจริงจังนั้น คงอดพูดถึงบริษัท Microsoft ไม่ได้ เพราะว่าช่วงหลังนี้บริษัท Microsoft มีนโยบาย และแผนกลยุทธ์ด้านนี้เป็นเรื่องเป็นราวออกสื่อใหญ่โตมาตลอด
เครื่องเก่าจะอยู่กับเราตลอดไป!
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้งานกันอยู่นั้นส่วนใหญ่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แม้ว่าอาจจะไม่มากเกินที่จะทำลายชั้นบรรยากาศทันทีทันใด หรือทำให้ทรัพยากรขาดแคลนทันที แต่ภาวะของผลกระทบที่เกิดขึ้นจะถูกสะสมไปถึงอนาคต ดังนั้นทางออกเบื้องต้นของเรื่องนี้ก็คือการที่ผู้ผลิตต้องมีมาตรการปรับรุ่น หรืออัพเกรดประสิทธิภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เสื่อมสภาพลง เพื่อให้สามารถใช้งานได้คุ้มค่ามากที่สุดจนกว่าจะเสื่อมสภาพจริงๆ คือไม่สามารถอัพเกรดได้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นสุดท้ายแล้วเมื่อมันหมดสภาพลงก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นขยะมลพิษประเภทหนึ่ง ซึ่งก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ ต้องใช้เวลานานมากแถมยังก่อมลพิษทางด้านอากาศ และสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกด้วย จึงได้มีการตระหนักถึง Green Impact หรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในสายงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เกิดเป็นการออกแบบนวัตกรรมที่สนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า Green Technology
Be what’s next มุ่งไปข้างหน้า
บริษัท Microsoft ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการวางนโยบายที่สอดคล้องและรองรับ Green Technology โดยในช่วงแรกนั้น Microsoft ได้ลงทุนไปกับบริการด้าน Cloud Computing หรือ Cloud Services แทนการใช้ Hardware และ Software อย่างจริงจัง ซึ่งที่จริงแล้วนโยบายด้านการใช้ Cloud Computing นั้นมีมานานพอดู ซึ่งเราคงจะเห็นได้จากทาง Google และอีกหลายบริษัท แต่สิ่งที่ Microsoft ตัดสินใจทำแล้วเป็นที่ฮือฮานั้นอาจจะเป็นเพราะว่า บริษัท Microsoft มีซอฟต์แวร์จำนวนมากที่ทำเงิน และให้บริการ Service ที่ราคาแพง ฉะนั้นการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หลัก หรือ Product หลักของ Microsoft อย่างเช่น Microsoft Office มาเป็น Microsoft Office Web App จึงเปรียบเสมือนเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองอยู่กรายๆ แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลายเป็นว่า หลังจากที่บริษัท Microsoft หันมาจับ Product จำพวก Cloud Service ส่วนแบ่งผู้ใช้งานบริการของ Microsoft Office Web App ในเอเชียนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 55% ซึ่งถือเป็นก้าวที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ Microsoft
Microsoft จัดหนัก
บริษัท Microsoft ได้มุ่งไปที่การสร้างผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากฐานคิดที่มองเห็น Life Cyle ของเทคโนโลยี โดยสิ่งที่ Microsoft ทำก็คือการสร้างสมดุลกับระหว่างปัจจัยทางด้านธุรกิจกับปัจจัยในด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เป็นสินค้าของตน โดยมีการคำนึงถึงความเร็วในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับโลกและตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงที่บอกถึงจุดเปลี่ยนบริษัท Microsoft ที่เห็นได้ชัดและเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดคือ ซอฟต์แวร์ Microsoft SQL Server ตั้งแต่เวอร์ชั่นปี 2007 ขึ้นไป ที่เริ่มเป็น On-Demand โดยมีการทำงานบน Cloud Computing และมีการเก็บข้อมูลบน Data Center แบบใหม่ที่เรียกว่า Green Data Center ซึ่งใช้กระบวนการสำหรับบริหารและจัดการเก็บข้อมูล และการประมวลผลข้อมูลแบบแพร่กระจาย ที่เรียกว่า Distribute โดยประมวลผลบนความเร็วเท่าเดิม แต่ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และ Green Datacenter นี่เองที่จะเป็นสิ่งที่ Microsoft อาจจะใช้เป็นจุดขาย และกู้หน้าสถานการณ์ที่ตกเป็นตัวรองในขณะนี้ได้
อนาคตของบริษัท Microsoft หลังจากผลักดันด้าน Green Technology ครั้งนี้จะเป็นยังไง อาจจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้พิสูจน์ให้ผู้บริโภคเทคโนโลยีและองค์กรต่างๆ ได้เห็นกันโดยทั่ว และตระหนักถึงทิศทางข้างหน้าของ Microsoft แต่ถามว่าตอนนี้ Microsoft พร้อมที่จะเริ่มเปลี่ยนจากเดินเป็นวิ่งได้หรือยัง สงสัยต้องดูก่อนว่าผู้บริหารในปัจจุบันจะหุบโครงการนี้หรือเดินต่อไปดี