Idea for Life

นวัตกรรมด้านไอทีกับกลวิธีกู้โลก

สำหรับปี 2555 หรือ 2012 ตามปฏิทินฝรั่งคงเป็นปีที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย เนื่องจากเป็นปีที่หลายๆ คำทำนายว่าไว้ว่าจะเป็นปีโลกาวินาศ ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็เอาเป็นว่า โลกเราทุกวันนี้นับว่าจะมีปัญหามากขึ้นทุกๆ วัน ดูได้จากเหตุภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในหลายๆ ประเทศ ทั้งแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น หรือน้ำท่วมในประเทศไทย สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้

IT saves the world

ปัญหาสำคัญของโลกที่พวกเราต้องคิดถึงในเวลานี้คงหนีไม่พ้นปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังหาวิธีการรับมือกับปัญหาโลกร้อน ชีวิตประจำวันของเราก็ต้องเดินหน้าต่อไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน แน่นอนว่าการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่สอดรับกับปัญหาต่างๆ กลายเป็นเทรนด์สำคัญไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกถูกควบคุมด้วยข้อมูลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นปีใหม่ปีนี้ เรามาเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่จะเข้ามาช่วยจัดการปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญกันนะครับ

Smart (more than) Phone

เดี๋ยวนี้ไปไหนทางไหนก็ได้ยินแค่คำว่า Smart Phone แต่คงไม่ค่อยมีใครได้ยินคำว่า Smart Grid กับ Smart Meter กันสักเท่าไหร่ อันที่จริงนี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่เอี่ยมเสียทีเดียวครับ เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปี 1990 เสียด้วยซ้ำ แต่แม้กระทั่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก็ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเท่าไหร่นัก โครงสร้างพลังงานอัจฉริยะที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้เป็นเรื่องของระบบไฟฟ้าครับ ระบบ Smart Grid เป็นระบบสายส่งไฟฟ้าที่ถูกควบคุมโดยระบบดิจิตอลทั้งหมด ทำให้สามารถติดตามข้อมูลได้ตั้งแต่จุดผลิตกระแสไฟฟ้า หม้อแปลง สายส่ง ไปจนถึงผู้ใช้ตามบ้าน

Smart Grid ยังถูกออกแบบให้เลือกรับกระแสไฟฟ้าจากเทคโนโลยีที่แตกต่างกันได้ โดยพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าจากพลังน้ำ ลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกเลือกก่อนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ระบบ Smart Grid จะทำการสื่อสารกับมาตรวัดอัจฉริยะ หรือ Smart Meter ซึ่งทำการเก็บข้อมูลส่งให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มหรือลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคและกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ณ ขณะนั้นในแบบรีลไทม์ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าก็ได้รับทราบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของตัวเองจาก Smart Meter ว่าใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาไหนไปกี่หน่วย และสามารถประเมินค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้

และการที่ผู้บริโภครับทราบข้อมูลลักษณะการใช้ไฟฟ้านี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกทำกิจกรรมบางอย่างในเวลาที่ค่าไฟถูกกว่าได้ (เช่น เดินเครื่องซักผ้าในเวลากลางคืน)

แนวคิดการทำงายของระบบ Smart Grid โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

ไม่เพียงเท่านี้ ระบบ Smart Meter ถูกออกแบบมาให้สามารถติดต่อกับผู้ผลิตไฟฟ้าได้ จึงมีคนนำเทคโนโลยีไปต่อยอดให้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตติดต่อได้ด้วย ทำให้เราสามารถดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ตลอดแม้จะไม่อยู่ที่บ้าน โดยโครงการในลักษณะนี้มียักษ์ใหญ่ในโลก IT ลงไปเล่นแล้ว คือโครงการ Hohm ของไมโครซอฟท์ และ PowerMeter ของกูเกิล ซึ่งทั้งสองโครงการมีลักษณะคล้ายกันคือทำหน้าที่เก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้เพื่อนำไปวิเคราะห์ลักษณะการใช้พลังงานในภายหลังได้ ทั้งสองโครงการนั้นถูกประกาศยุติการดำเนินการไปแล้วทั้งคู่เนื่องจากขาดความสนใจจากประชาชนทั่วไป แต่คาดว่าหากสหรัฐฯ ตั้งใจผลักดันเทคโนโลยีนี้ เราคงได้เห็นทั้งไมโครซอฟท์และกูเกิล รวมถึงบริษัทพลังงานต่างๆ ลงมาเล่นในเวทีนี้กันมากขึ้นอย่างแน่นอน

Home

เทคโนโลยี Smart Grid และ Smart Meter นี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทดแทนระบบไฟฟ้าแบบเดิมๆ ที่เราไม่เคยรู้เลยว่าในแต่ละเดือนเรามีลักษณะการใช้ไฟฟ้าอย่างไร เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้สอดรับกับวิกฤติพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะเมื่อรับรับทราบพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราแล้ว เราจะสามารถเลือกช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดด้วย

การคำนวณค่าไฟฟ้านั้นจะแบ่งคิดตามช่วงเวลา โดยในช่วงเวลากลางวัน หรือที่เรียกว่า on-peak ที่มีผู้ใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ค่าไฟในช่วงเวลานี้จะแพงกว่าช่วงกลางคืน หรือ off-peak ซึ่งมีผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า เหตุผลเนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้าต้องใช้เชื้อเพลิงในผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวันให้เพียงพอ ในขณะที่กลางคืนนั้นจะพึ่งพาเชื้อเพลิงน้อยกว่าเนื่องจากกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานน้ำหรือลมที่ทำงานเกือบตลอดเวลาสามารถชดเชยได้มากกว่านั่นเอง

ระบบติดตามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ผ่าน “ปลอกคออัจฉริยะ”

ปัจจุบันปัญหาการสูญเสียทรัพยากรทางชีวภาพนั้นรุนแรงไม่แพ้ปัญหาภาวะโลกร้อนหรือภัยธรรมชาติเลย ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของสัตว์ป่ามีความจำเป็นในฐานะเครื่องมือที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทราบข้อมูลของสัตว์ที่ถูกติดป้ายหรือปลอกคอได้ การเรียนรู้ตำแหน่งที่อยู่ของสัตว์เหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจรูปแบบการดำเนินชีวิตของสัตว์ป่ามากขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการอนุรักษ์ให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีปลอกคอที่ถูกใช้อยู่ในปัจจุบันบอกอะไรไม่ได้มากไปกว่าแค่ตำแหน่งที่อยู่ผ่านเทคโนโลยี GPS เท่านั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าสัตว์ตัวนั้นกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการศึกษาอย่างมาก

เทคโนโลยีปลอกคออัจฉริยะ (อัจฉริยะอีกแล้ว)หรือ Smart Collar ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนานี้จะถือเป็นก้าวใหม่ในการรวมความสามารถของเทคโนโลยีทางด้าน IT เข้ากับความรู้ทางชีววิทยา Smart Collar เป็นปลอกคอที่อาศัยเทคโนโลยี GPS ที่ใช้ระบุตำแหน่ง และ Accelerometer (แบบเดียวกับที่ใช้ในสมาร์ทโฟน) เพื่อตรวจจับลักษณะการเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งข้อมูลที่ได้จากปลอกคออัจฉริยะนี้จะกลายเป็นเหมือนไดอารี่ของสัตว์ตัวนั้นๆ เลยทีเดียว

ทดสอบ Smart Collar กับ สิงโตในห้องปฏิบัติการ

นักวิทยาศาสตร์สามารถอาศัยข้อมูลตำแหน่งและการเคลื่อนไหวในการประเมินลักษณะการใช้ชีวิตของสัตว์ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดิน กระโดด กิน หรือนอน ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้มีความละเอียดถึงขั้นที่สามารถบอกได้ว่าสัตว์ตัวนั้นล่าอะไรกินเป็นอาหาร เช่นการเคลื่อนไหวเพื่อล่ากวางหรือกระต่ายนั้นก็แตกต่างกันด้วย เป็นต้น เทคโนโลยีนี้อยู่ในระหว่างการทดลองใช้กับสิงโตโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานตาครูซ และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงพานิชย์ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

รู้ทันภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงที่โลกและมนุษยชาติต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากมายนับครั้งไม่ถ้วน สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิต และทรัพย์สินเป็นมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วย (เหตุน้ำท่วมบ้านเราเป็นตัวอย่างชั้นดีเลยทีเดียว) ยิ่งสมัยนี้ ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น จึงทำให้มีคนสร้างแอพสำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งรับข้อมูลจากระบบตรวจสอบภัยธรรมชาติต่างๆ ส่งตรงเข้าสู่มือของผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องผ่าน Push Notification

ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งประสบกับเหตุแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลกก็มีแอพสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ iOS เพื่อเตือนภัยแผ่นดินไหวในระบบของญี่ปุ่นที่แบ่งเป็น 7 ระดับ โดยการใช้งานก็ไม่ยุ่งยากใดๆ เพียงแค่ระบุสถานที่ที่เราต้องการทราบข่าวแผ่นดินไหวพร้อมทั้งระดับความรุนแรงต่ำสุดที่จะแจ้งเตือนไว้ เมื่อมีแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่าความรุนแรงต่ำสุดที่เราตั้งค่าไว้ ระบบก็จะส่งข้อความมาเตือนเราดังภาพ พร้อมทั้งบอกเวลาที่แรงกระแทกจะมาถึงด้วย เพื่อที่จะสามารถหาที่หลบภัยได้ทัน แอพตัวนี้รับข้อมูลโดยตรงจากศูนย์ตรวจสอบแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น และสามารถดูบันทึกย้อนหลังได้ด้วย แอพลักษณะนี้มีอีกหลายตัวบนหลายระบบปฏิบัติการ และอาจใช้ฐานข้อมูลแตกต่างกันไป

แอพพลิเคชั่นเตือนภัยสึนามิบนระบบปฏิบัติการ Android

สำหรับเมืองไทยอาจจะยังไม่มีแอพที่แจ้งเตือนแบบ Push ลักษณะนี้ แต่ก็มีแอพที่แสดงข้อมูลที่มีประโยชน์และช่วยให้เราประเมินสถานการณ์เบื้องต้นได้ เช่น แอพ ThaiDamMonitor บน Windows Phone 7 ที่แสดงข้อมูลของปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศไทย โดยรับข้อมูลปริมาณน้ำจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะต้องมีการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งได้สะดวกยิ่งขึ้น

คาดว่าในอนาคตเมื่อมีเรามีระบบการตรวจวัดสภาวะต่างๆ หรือระบบเตือนภัยธรรมชาติที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีในลักษณะนี้จะเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน เพราะการรอรับข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตหรือทีวีนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลได้รวดเร็วเพียงพอได้ ในขณะที่โทรศัพท์ซึ่งอยู่ติดตัวเราเกือบตลอด 24 ชั่วโมงนั้นสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าการสื่อสารแบบอื่นๆ อาจช่วยลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติได้

โอกาสที่เปิดกว้างบน Cloud Computing

นับวันเทคโนโลยีประมวลผลแบบกลุ่มเมฆจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นแนวโน้มการซื้อสินค้าเทคโนโลยีที่เริ่มเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมาเป็นโน้ตบุ๊กไปจนถึงเน็ตบุ๊กและแท็บเล็ตซึ่งมีพลังประมวลผลต่ำกันมากขึ้น รวมถึงทิศทางการพัฒนาเว็บแอพ ซึ่งช่วยให้เราสามารถทำงานบนอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้พลังงานต่ำได้จากทุกสถานที่ที่มีอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีนี้จะช่วยผลักดันการเข้าถึงความรู้อีกมากมายมหาศาลบนโลกอินเตอร์เน็ตในขณะเดียวกันก็ช่วยให้การดำเนินธุรกิจต่างๆ เป็นไปได้อย่างง่ายดาย เราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเพื่อประชุมกับฝ่ายอื่นๆ เมื่อเราสามารถใช้การประชุมผ่านวิดีโอทางไกลได้ และยังสามารถแก้ไขงานต่างๆ ไปพร้อมๆ กันบนโปรแกรมฟรีบนเว็บอย่าง Google Docs หรือ Microsoft Office Web Apps ซึ่งทำให้เราสามารถประหยัดเวลาเดินทางรวมถึงพลังงานในการใช้ทำงานอย่างเดียวกันในอดีตไปได้มาก

ระบบปฏิบัติการใหม่ๆ บนคอมพิวเตอร์ยุคหน้าล้วนออกแบบมาเพื่อให้การใช้งานลักษณะนี้สะดวกสบายที่สุด ทั้ง OS X ของแอปเปิ้ล Windows 8 ของไมโครซอฟท์ และ Chrome OS ของกูเกิล ล้วนผสานเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับกลุ่มเมฆไว้ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อคอมพิวเตอร์พวกนี้สามารถใช้พลังงานประมวลผลความเร็วสูงบนเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ออกแบบไว้ ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาหน่วยประมวลผลแรงๆ ในคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตส่วนตัวก็หมดไป เป็นโอกาสให้อุปกรณ์ที่ไม่แรงนัก ใช้ไฟต่ำ และราคาถูก สามารถเข้ามาแทรกตลาดคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

 Chrome OS ที่รันโปรแกรมต่างๆ ผ่านเว็บทั้งหมด

 Chrome OS ที่รันโปรแกรมต่างๆ ผ่านเว็บทั้งหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นการพลิกโฉมการใช้เทคโนโลยีทางด้าน IT เพื่อประหยัดพลังงาน และลดช่องว่างทางโอกาสให้กับผู้มีรายได้ต่ำทั่วโลกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งโครงการลักษณะนี้ก็ได้มีการริเริ่มบ้างแล้วในหลายประเทศ เช่น อินเดียและไทย ซึ่งมีโครงการออกแท็บเล็ตราคาถูกเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนของชาติ ใครจะรู้ว่าเราอาจจะพบอัจฉริยะคนใหม่จากโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นนี้ก็เป็นได้

Ready to be “Better World”?

เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันนับเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญไม่แพ้เทคโนโลยีทางทหารหรือพลังงานแม้แต่น้อย ในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารเป็นอาวุธเช่นนี้ การใช้เทคโนโลยีทางด้าน IT สามารถช่วยให้เราทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โลกที่เราสามารถใช้เทคโนโลยีควบคุมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โลกที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้เทคโนโลยีศึกษาแบบแผนการดำเนินชีวิตของสัตว์ป่าเพื่อจัดสรรเขตอนุรักษ์ให้เหมาะสม โลกที่เทคโนโลยีช่วยลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่โลกที่ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการดำเนินธุรกิจสีเขียวที่ใช้พลังงานต่ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานที่ใช้รับ-ส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น แน่นอนว่าการใช้ IT เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกสามารถทำได้อีกหลายวิธี และผมก็เชื่อว่าเราทุกคนคงอยากเห็นนวัตกรรมทางด้าน IT เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์และโลกที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะไม่ใช่คำตอบในทุกกรณี เพราะที่สุดแล้วเทคโนโลยีคงเป็นเพียงเครื่องมือ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์เราในฐานะ User จะนำไปใช้ขยายผลจริงจังมากน้อยแค่ไหน ถ้าลองศึกษาดีๆ เราจะพบว่าโลกไอทีนั้นมีเครื่องมือดีๆ ให้หยิบจับมาใช้อีกมากมาย เพื่อให้ปีใหม่ของทุกปีเป็นจุดเริ่มต้นของโลกที่ดีกว่าเดิม

Credit: Truelife Magazine

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน