Lifestyle'nTrend

DramaKeting: เมื่อน้ำท่วมตำรา ถึงเวลาแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาจะมาแทน?

หมายเหตุ:บทความต่อไปนี้เป็นแค่ทัศนะคติส่วนตัวของผู้เขียน ที่รอคนมาเห็นด้วยเท่านั้น ในขณะนี้ที่กรุงเทพฯ และเขตต่างๆ กำลังอยู่ในภาวะเหมือนเมืองบาดาล มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาหลายแห่งจำต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนกันหลายแห่ง ที่น่าเสียดายคือหนังสือ และตำราเรียนที่มีค่าหลายเล่มได้เสียหายจากน้ำท่วม จมนิ่งสงบอยู่ใต้ทะเลกลางกรุง

เมื่อน้ำท่วมตำรา ถึงเวลาแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาจะมาแทน?

เมื่อนโยบายทั้งหลายต้องหยุดชะงักอย่าง “ทุนเรียนฟรี” ก็น่าจะเป็นนโยบายที่จะถูกแกล้งลืม หรือไม่พูดถึงไป ณ ตอนนี้ แต่นโยบายหนึ่งที่ต้องดำเนินไปให้สุด และใช้ภาวะของน้ำท่วมกรุงครั้งนี้เป็นเหมือนสถานการณ์ที่น่าจะสร้างวีรบุรุษ และพาเปลี่ยนแนวทางกันซะเลย อย่างนโยบาย แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา “One Tablet PC Per Child” ที่น่าจะเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องวางเป็นแผนดำเนินการน้ำขึ้นให้รีบตักโดยฉับพลัน โดยเป้าหมายนั้นสั้นกระชับ และชัดเจน ว่า แท็บเล็ตหลังน้ำลดน่าจะมาทดแทนตำราที่เสียหายบางส่วนได้

นอกจากหน้าที่ที่จะเข้ามาทดแทนตำราที่นอนนิ่งอยู่ใต้น้ำแล้ว แท็บเล็ตอาจจะเป็นเหมือนเครื่องมือตัวใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูงบประมาณของรัฐบาลหลังน้ำท่วมได้อีก เพราะแท็บเล็ตนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดภาวะการเงิน และงบประมาณในส่วนของการจัดซื้อตำราเรียนกับ สพฐ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ฉลุยแบบไม่มีอะไรมาขัดแข้งขัดขา ซึ่งข่าวลือที่ว่างบประมาณปี 2554 กว่า 37,000 ล้านจะต้องมีการขอเพิ่มการจัดซื้อหนังสือ ตำราใหม่ คราวนี้คงไม่ต้องห่วงงบประมาณเท่านี้ (น่าจะ) “เอาอยู่” อย่างแน่นอน

ภาวะวิกฤติน้ำท่วม และการคาดการณ์มากมายหลังน้ำลดนั้น นโยบายแท็บเล็ตน่าจะเป็นหนึ่งนโยบายฟื้นฟูการศึกษาที่ถูก Plug-in เข้าไปร่วมกับนโยบายฟื้นฟูประเทศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ต้องขอร้องว่า กระทรวงทั้งหลายได้คิดให้ตกผลึกกันอย่างดีแล้วหรือยังในเรื่องของนโยบายดีๆ เข้าท่าไฮเทคนั้นมันตรงกับช่วงเวลาของเด็กช่วงไหน หากว่าเดิมที่เคยมีคนมานำเสนอว่า นโยบายแท็บเล็ตเพื่อการศึกษานี้จะครอบคลุมกับนโยบายเรียนฟรีตั้งแต่ ประถมชั้น 1 อาจจะต้องคิดกันใหม่เล็กน้อยว่า วุฒิภาวะของเยาวชนอายุ 6 – 7 ปีนั้นเหมาะสมกับการได้ครอบครองแท็บเล็ตแล้วจริงหรือ หากตัดประเด็นที่ผู้ปกครองจะเอาไปใช้เสียเองออก แท็บเล็ตที่ได้ไปจะถูกเด็กวัยนั้นนำไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรหรือเปล่า อย่าลืมว่าเด็กในอายุ 6-7 ปีนี้พัฒนาไว และจดจำอะไรได้รวดเร็วแค่ไหนพวกเขาสามารถจดจำ ประสบการณ์มากมายรอบตัวได้แบบทันทีทันใด หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา สื่อที่เกิดขอบเขต ติดเกม สื่อรุนแรง สื่อลามกเข้าไป ก็ไม่ต่างอะไรกับอุทกภัยที่เรากำลังเผชิญ ณ เวลานี้

เมื่อน้ำท่วมตำรา ถึงเวลาแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาจะมาแทน?

และอีกอย่างที่ผู้เขียนรู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงประเด็นซักเท่าไร คือ ราคาของแท็บเล็ตที่แจก งบประมาณต่อเครื่องมันไม่ใช่ลักษณะของแท็บเล็ตที่ใช้งานได้จริงจัง เพราะราคาที่เห็นว่านำเสนอนั้นแพงกว่าโทรศัพท์ ธรรมดาๆ เครื่องหนึ่งแค่นั้นเอง นั่นแค่เรื่องของอุปกรณ์เองนะครับ สื่อหรือคอนเท็นท์ถ้ามันเป็นมีเดียสมบูรณ์แบบเหมือนที่เกาหลี ญี่ปุ่นทำกันก็คงจะดี อย่าให้รู้นะว่าเตรียมสแกนหนังสือเป็น PDF แจกให้อ่านบนแท็บเล็ต เพราะไม่งั้นเด็กก็แค่พกเท่ๆ ไม่ต้องอ่านก็ได้

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน