ซีพียูเปรียบเสมือนมันสมองของคอมพิวเตอร์ เพราะทำหน้าที่ประมวลผลคำสั่งและข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ใช้ป้อนผ่านโปรแกรมด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด ดังนั้นซีพียูจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์เป็นอย่างยิ่ง วิวัฒนาการของซีพียูมีมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันซีพียูที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปน่าจะเป็นซีพียูจากอินเทลอย่าง Sandy Bridge ที่วางจำหน่ายเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 มีการแบ่งรุ่น ถือเป็นซีพียูเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของ Core i (Core i3, i5 และ i7) ล่าสุดทางอินเทลเตรียมส่งซีพียู Intel Core i เจนเนอเรชั่นที่ 3 ลงสู่ตลาด โดยมีโค้ดเนมเก๋ไก๋ว่า “Ivy Bridge”
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่าง Sandy Bridge กับ Ivy Bridge คือ การลดกระบวนการผลิตจากเดิม 32 นาโนเมตร เป็น 22 นาโนเมตร ซึ่งการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เล็กลง ช่วยให้ขนาดของทรานซิสเตอร์เล็กลง กินไฟน้อยลง และตัวถังของซีพียูสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ไว้ภายในได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังปรับแกนประมวลผลกราฟิกที่อยู่ภายในซีพียูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญผู้ใช้ Sandy Bridge อยู่แล้วสามารถเปลี่ยนมาใช้ซีพียู Ivy Bridge ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดใหม่ เพราะ Ivy Bridge ยังคงใช้งานร่วมกับเมนบอร์ดที่ใช้ซ็อกเก็ต LGA1155 ได้
อินเทลนำเทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ที่เรียกว่า Tri-Gate ซึ่งเป็นทรานซิสเตอร์แบบใหม่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาดเล็กเพียง 22 นาโนเมตร ทำให้เพิ่มจำนวน Gate ในทรานซิสเตอร์แต่ละตัวได้ถึง 3 Gate (เป็นที่มาของชื่อ Tri-Gate) ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพลิกโฉมประวัติศาสตร์ของการผลิตซีพียูอีกครั้ง โดย Tri-Gate เป็นทรานซิสเตอร์ 3 มิติซึ่งต่างจากทรานซิสเตอร์แบบ 2 มิติที่กระแสไฟฟ้ามีรูปทรงในการไหลเป็นพื้นที่แบบ “กว้าง x ยาว” แต่ Tri-Gate จะยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านในพื้นที่แบบ “กว้าง x ยาว x สูง” ทำให้ช่องทางในการไหลของไฟฟ้ากว้างมากขึ้น ช่วยลดแรงเสียดทานในการไหลของกระแสไฟฟ้าได้ ความร้อนจึงน้อยลง เมื่อความร้อนน้อยลงก็สามารถเพิ่มความถี่ในการทำงานของทรานซิสเตอร์ได้มากขึ้น ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ทำงานได้เร็วขึ้น
อินเทลเอาใจขาโหดที่ชอบโอเวอร์คล็อกด้วยการเพิ่มคุณสมบัติที่น่าสนใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าตัวคูณได้มากสุดถึง x63 จากเดิม x57 การปรับตัวควบคุมหน่วยความจำให้รองรับ RAM แบบ DDR3 ที่ความเร็วสูงสุด 2800MHz จากเดิม 2133MHz และที่สำคัญคือสามารถปรับแต่งค่าตัวคูณได้โดยไม่ต้องบูตเครื่องใหม่ ทำให้การโอเวอร์คล็อกผ่านซอฟต์แวร์ทำได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งค่า Thermal Design Power (TDP) ที่ใช้กำหนดอัตราการใช้พลังงานสูงสุดของซีพียูได้ถึง 3 โหมด คือ Minimum, Norminal และ Maximum ทำให้สามารถปรับความเร็วของซีพียูได้มากขึ้นถ้าสามารถจ่ายไฟให้กับซีพียูและมีระบบระบายความร้อนที่ดีพอ ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้จะมีประโยชน์ต่อโน้ตบุ๊กเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ Ivy Bridge มีชิพประมวลผลกราฟิกฝังอยู่ภายในเช่นเดียวกับรุ่นพี่ของมันอย่าง Sandy Bridge แต่วงจรต่างๆ ของชิพกราฟิกได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่า 60% และมีการจัดการพลังงานกับความร้อนที่ดีขึ้น
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีต้องเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง คือ ความมั่นคงปลอดภัย และทางอินเทลก็ได้พัฒนาให้ Ivy Bridge สามารถทำงานด้านการเข้ารหัสลับข้อมูล (Cryptographic Task) ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีระบบ Supervisory Mode Execute Protection (SEMP) ที่จะตรวจจับแอพพลิเคชั่นแปลกปลอมไม่ให้มีสิทธิ์เข้าถึงหน่วยความจำได้
ทั้งหมดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดของ Ivy Bridge ที่จะเน้นไปที่การใช้พลังงานน้อยลง เพิ่มความยืดหยุ่นในการโอเวอร์คล็อก และเพิ่มประสิทธิภาพของชิพกราฟิก ทางอินเทลกล่าวว่า Ivy Bridge จะมีความเร็วเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 20% ซึ่งประสิทธิภาพของมันจะยอดเยี่ยมเพียงใด คงต้องรอดูกันต่อไป โดยกำหนดการวางตลาดของซีพียูแห่งอนาคตรุ่นนี้ คือ ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2012
รู้หรือไม่ว่า
จำนวนทรานซิสเตอร์ภายใน Ivy Bridge มีมากถึง 1.45 พันล้านตัว ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่า Sandy Bridge เดิมถึง 45% โดยกว่า 30% นั้นเป็นพื้นที่ของแกนประมวลผลกราฟิก แสดงให้เห็นว่าอินเทลให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกมากขึ้นขนาดไหน