หลังจากที่ปล่อยให้ facebook เป็นมหาอำนาจแห่งโลกสังคมออนไลน์มาเป็นเวลานาน ในที่สุดกูเกิลยักษ์ใหญ่แห่งโลกอินเตอร์เน็ตก็ออกอาวุธใหม่มาตอบโต้กับเขาบ้างแล้วกับ Google+ (หรือ G+) เครือข่ายสังคมออนไลน์ล่าสุดจากกูเกิล หลังจากที่พลาดหวังมาครั้งแล้วครั้งเล่ากับ Orkut (มีคนใช้อยู่ไม่กี่ประเทศ) หรือกับ Google Buzz (ดังแบบเงียบๆ) ซึ่งเพียง 2 สัปดาห์ก็มีผู้ใช้ทะลุ 10 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นการเปิดตัวที่แรงมากๆ แต่จะแรงเบียด facebook, Twitter ได้หรือไม่คงต้องใช้เวลาพิสูจน์กันอีกสักหน่อยล่ะครับว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นกระแสเห่อเพียงชั่วคราวหรือเปล่า
อันที่จริง G+ ก็มีพื้นฐานมาจากบริการอื่นๆ ของกูเกิลไม่ว่าจะเป็น Gmail (Google Profile), Picasa, Gtalk, Google +1 (คนละอันกับ Google+ นะครับ) สิ่งที่กูเกิลทำกับ G+ คือการรวมเอาบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ G+ มีความสามารถไม่ด้อยกว่าเครือข่ายสังคมชื่อดังแม้จะเพิ่งเปิดตัวมาไม่นานนี้ก็ตาม นอกเหนือจากนั้น G+ ยังโดดเด่นด้วยการที่มันถูกออกแบบมาสำหรับ Android โดยเฉพาะ คนที่เคยได้ลองจับ G+ แล้วคงสังเกตได้ว่ามันมีช่องทางการอัพโหลดคอนเทนต์ต่างๆ จากโทรศัพท์มือถือได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากเลยครับว่ากูเกิลเองคงจะใช้ฐานผู้ใช้ Android จำนวนมากในการเป็นผู้บุกเบิก G+ เพื่อต่อกรกับ facebook และ Twitter อย่างแน่นอน
กูเกิลนับเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จบนโลกอินเตอร์เน็ตมากที่สุดบนโลกก็ว่าได้ คงไม่มีใครไม่รู้จักบริการค้นหาครอบจักรวาลอย่าง Google Search ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกถึงเกือบ 85% ในขณะที่ YouTube ก็เป็นเว็บวิดีโอออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วน Gmail เป็นบริการเว็บเมล์อันดับสามของโลก (เป็นรอง Hotmail และ Yahoo mail) ส่วนบริการ AdWords ก็เป็นแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (รวมถึงเป็นรายได้หลักของ Google ด้วย)
โลโก้ของกูเกิลสมัยเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 1998
จุดกำเนิดของกูเกิลเริ่มต้นจากวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2 คนคือ Larry Page และ Sergey Brin ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับระบบการจัดลำดับเว็บเพจ ทั้งสองร่วมกันพัฒนาระบบค้นหาลิ้งก์และเปิดตัว Google.com ในปี 1997 และเพียง 3 ปีหลังจากนั้นก็สามารถล้มอดีต Search Engine เจ้าตลาดเดิมอย่าง AltaVista และ Yahoo ได้ด้วยผลการค้นหาที่เหนือกว่า กลายเป็น Search Engine อันดับหนึ่งของโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา แน่นอนว่ากูเกิลเองก็ถูกท้าทายโดยคู่แข่งทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่โดยตลอด ทั้ง Yahoo, Bing รวมถึง Baidu จากทางฝั่งจีน แต่เท่าที่ผ่านมาก็ไม่มีใครสามารถล้มยักษ์ด้านการค้นหาข้อมูลรายนี้ลงได้ กูเกิลนั้นประสบความสำเร็จมากจนถึงขนาดที่ว่าคำว่า “Google” มีความหมายเท่ากับการหาอะไรสักอย่างบนอินเตอร์เน็ตไปแล้ว
ความสำเร็จของกูเกิลนั้นเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่าคู่แข่ง การสรรหาพันธมิตรที่เอื้อประโยชน์ในเชิงธุรกิจ (เช่นการจับมือกับ American Online หรือ AOL ที่ช่วยให้กูเกิลครองตลาดในอเมริกาได้เร็วผ่านฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่) รวมถึงการเข้าซื้อบริษัทอื่นๆ เพื่อดึงมันสมองมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ (Android, YouTube) ทำให้กูเกิลมีฐานผู้ใช้ที่กว้างกว่าแค่คนใช้บริการค้นหาข้อมูล
ผู้ที่ใช้งาน Gmail หรือ Android คงจะพอรู้ถึงความเชื่อมต่อกันระหว่างแต่ละบริการของกูเกิลว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นนับเป็นจุดแข็งสำหรับบริการบนโลกออนไลน์ที่กูเกิลใช้สู้กับคู่แข่ง ในขณะเดียวกันกลยุทธ์ทางการตลาดของกูเกิลที่ปล่อยให้คนใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนฟรี ก็กินใจลูกค้าทั่วโลกและทำให้หลายบริษัทต้องปรับกระบวนแก้เกมตามไปด้วย ซึ่งก็แน่ล่ะว่าของถูกจะสู้ของฟรีได้อย่างไร อีกทั้งผลิตภัณฑ์อย่าง Google Docs, Google Earth, Google Maps นั้นมีความสามารถเทียบเท่า (บางครั้งก็เหนือกว่า) ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งที่คิดค่าบริการทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ใช้หลายร้อยล้านคนทั่วโลกยอมรับในความเป็นกูเกิล และตื่นตาตื่นใจไปกับนวัตกรรมใหม่ๆ จากกูเกิลทุกครั้ง