Marketing to mobile

Store War ศึกตัดสินสมาร์ทโฟน 2012

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศึกสมาร์ทโฟนทั้งในตลาดเมืองไทยและต่างประเทศนั้นมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทั้งการเข็นอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นและฟีเจอร์ที่โดดเด่นออกสู่ตลาด การเข้ามาของ Mobile CPU แบบ Dual Core การผนวกเอาเทคโนโลยี 3D เข้ามา การชิงความเป็นผู้นำด้านความสดใสโดดเด่นของหน้าจอแสดงผล ไม่ว่าจะเป็น Retina Display, Super AMOLED, S-LCD อะไรต่อมิอะไรมากมาย นอกจากนี้ก็ได้ยินมาว่าเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว CPU แบบ Quad Core ในสมาร์ทโฟนบางตัวแล้วเช่นกัน

Store War ศึกตัดสินสมาร์ทโฟน 2012

นี่ยังไม่นับข่าวการเปิดตัวโทรศัพท์ยอดฮิตอย่าง iPhone 4S พร้อม iOS 5 ที่ทำสถิติขายหมดอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ ขณะเดียวกันทางค่ายหุ่นกระป๋องตัวเขียวอย่าง Android เองก็เพิ่งจะสรุปยอดการเปิดใช้งานเครื่อง Android ที่มียอดรวมถึงกว่า 200 ล้านเครื่อง ส่วนสมาร์ทโฟนเจ้าอื่นไม่ว่าจะเป็น BlackBerry, Windows Phone หรือ Symbian เอง ต้องยอมรับว่าน่าจะเหนื่อยสักหน่อยหากต้องการจะขึ้นมาเทียบชั้นกับ 2 ผู้นำในเวลานี้

เกริ่นมาซะยาวมากมาย เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ แม้แนวโน้มสมาร์ทโฟนจะฮิตติดลมบนขนาดไหน แต่จุดหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญของผู้ซื้อก่อนจะเลือกซื้อสมาร์ทโฟนใดสักตัวนอกเหนือไปจากรูปร่างหน้าตา ความสามารถแล้ว คงจะหนีไม่พ้น “แอพพลิเคชั่น” ที่สามารถดาวน์โหลดหรือติดตั้งใช้งานได้ในเครื่องของตัวเอง ถ้าจะพูดกันให้ชัดๆ และเห็นภาพกันง่ายๆ ผมอยากจะย้อนไปในยุคของ Palm OS และ PocketPC ที่ในสมัยนั้นก็มีการแข่งขันกันในเรื่องของแอพพลิเคชั่นกันมากมาย

Store War ศึกตัดสินสมาร์ทโฟน 2012

ในยุคนั้นหากมีคำถามว่าอยากได้ PDA สักตัวจะเลือกใช้ตัวไหนดี หลายเสียงต่างแนะนำไปทาง PalmOS โดยให้เหตุผลในเรื่องของแอพพลิเคชั่นที่มีให้มากกว่า ในขณะที่ทางฟากของ Windows Mobile เองยังมีจำนวนของแอพพลิเคชั่นที่ไม่มากนัก เมื่อผ่านพ้นจากยุคของ PalmOS จนข้ามมาสู่ช่วงยุคที่สมาร์ทโฟนเพิ่งจะตั้งต้น ตอนนั้นค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia ได้เข็นระบบปฏิบัติการ Symbian ออกมา และก็ได้มีการพัฒนาแอพสำหรับ Symbian ออกมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนต่างหาดาวน์โหลดแอพหรือติดตั้งแอพกันจากร้านค้าตามห้างต่างๆ จนทำให้ธุรกิจรับลงแอพพลิเคชั่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น

ในขณะที่ Symbian กำลังเติบโตอย่างมากมายก็ต้องเริ่มถูกลดความน่าสนใจลงเมื่อ Apple เปิดตัว iPhone ตัวแรกที่ออกมาพร้อมกับ App Store ที่ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเลยก็ว่าได้ ที่ Apple ได้ทำให้ App Store บน iPhone มีคนใช้เพิ่มขึ้นได้ขนาดนี้ เป็นเพราะ Apple เลือกทำให้ทุกอย่างมันดูง่าย และที่สำคัญคือมีแอพฟรีจำนวนมากให้เลือกดาวน์โหลดใช้งานกัน หรือหากเป็นแอพที่ต้องจ่ายเงินซื้อก็มีราคาที่ไม่สูงมากนัก ทั้งหมดนั้นทำให้ App Store ในยุคของ Apple มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนมีแอพกว่าครึ่งล้านได้ในเวลาไม่กี่ปี และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแข่งขันในตลาดแอพพลิเคชั่นบนมือถืออย่างแท้จริง

Bigger is better?

ในปัจจุบันจริงอยู่ที่หลายค่ายต่างพยายามโปรโมทความหลากหลายของแอพที่มีให้ซื้อขายหรือดาวน์โหลด ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลจากชาร์ทเปรียบเทียบการเติบโตของแอพพลิเคชั่นใน Store ของแต่ละค่ายที่น่าสนใจกันนะครับ จากเว็บ GSM Arena จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นปีนี้แอพของ iOS นั้นมีการเพิ่มขึ้นกว่า 350,000 แอพ ในขณะที่ทางฝั่ง Android ก็เพิ่มจำนวนตามมาติดๆ

ผมเชื่อได้ว่า App Store จาก Apple เป็นผู้จุดประกายการแข่งขันในการพัฒนาแอพบนมือถือให้มีความหลากหลายมากขึ้น และมันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ Google ลงมาเล่นตลาดสมาร์ทโฟนกับเขาด้วยการเปิดตัว Android พร้อมสร้าง Market ที่เรารู้จักกันในนาม “Android Market” ศูนย์รวมแอพพลิเคชั่นบนมือถือในแบบที่ตั้งใจมาแข่งขันกับ Apple โดยเฉพาะเลยทีเดียว ขนาดที่ว่าแอพไหนมีบน Apple App Store ก็มักจะต้องมีเวอร์ชั่นของ Android ตามออกมาด้วยเสมอ

ส่วนทาง BlackBerry App World ที่เป็นตลาดแอพสำหรับผู้ใช้ BlackBerry ที่กำลังไล่เคี่ยวผู้นำขึ้นมาด้วยการอัพเดต App World ของตัวเองให้ดูสดใสและใช้ง่ายยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ Ovi Store จาก Nokia ก็มีการรวบรวมแอพสำหรับ Symbian ของตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น จากที่ช่วงแรกไม่มีการรวมไว้และเปิดช่องให้ทางผู้ค้าออนไลน์อย่าง Handandgo เป็นผู้ขายแอพให้ตัวเองมานาน ในขณะที่ Windows Marketplace จากค่าย Microsoft ก็กำลังพยายามพัฒนาตัว Store ของตัวเองให้ขึ้นมาเทียบชั้น ซึ่งก็มีการประกาศออกมาว่าแอพใน Windows Marketplace นั้นกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของ Windows Phone ในอนาคตได้เลยทีเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ย่อมจะเป็นการเพิ่มสีสันในการแข่งขันของตลาด App Store ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ให้เป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นแน่นอน

บรรยายภาพ: ปัจจุบัน Android Market กำลังไล่ตาม Apple App Store เข้ามาติดๆ ทั้งด้านจำนวนและคุณภาพของ App

จริงอยู่ที่จำนวนของแอพอาจเป็นปัจจัยต้นๆ ในการเลือกใช้งานสมาร์ทโฟนสักตัว แต่เมื่อผู้ใช้เลือกใช้แล้ว จำนวนของแอพที่มีให้เลือกโหลดอาจเป็นแค่จำนวนที่เอาไว้คุยกันเท่านั้น ที่ต่างประเทศมีการทำสำรวจเอาไว้ว่า เฉลี่ยแล้วคนเราที่ใช้สมาร์ทโฟน อย่าง iOS จะดาวน์โหลดแอพเฉลี่ยอยู่ที่ 48 แอพ ต่อคน ต่อเครื่อง ในขณะที่ Andoird อยู่ที่ 35 แอพ และ BlackBerry 18 แอพต่อเครื่องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ผมเชื่อได้เลยว่า แอพที่เราใช้งานจริงๆ แบบใช้งานทุกวันนั้นมีแค่ไม่เกิน 5 แอพต่อคนด้วยซ้ำ

ผมมองว่าปริมาณของแอพที่คนจะใช้งานจริงๆ มันไม่ได้มากมายเป็นร้อยเป็นพันเท่าไรนัก ดังนั้นการจะวัดความเติบโตหรือความสำเร็จในตัว App Store “จำนวน” จึงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญหรือเป็นดัชนีสำคัญมากเท่าไรนัก เพราะแม้จะมีแอพจำนวนน้อย แต่ถ้าแอพทุกตัว “โดนใจ” และสามารถใช้งานได้จริง ชนิดที่ว่าผู้ใช้ยอมลงทุนควักกระเป๋าจ่ายเป็นค่าซื้อแอพ App Store นั้นๆ ก็ย่อมจะสามารถประคองตัวเองไปได้ยาวตลอดรอดฝั่งได้

“Buy Now” is trending

App Store ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแบบชัดเจน และจริงจังมากที่สุดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เองครับ การกำเนิดของ App Store ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและเลือกใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอพแบบฟรีหรือแอพแบบเสียเงิน ซึ่งการมาของ App Store ก็ได้ทำเกิดพฤติกรรมใหม่ๆ จนกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้คนต่าง “เลือกซื้อ” แอพแบบเสียเงินกันมากขึ้น ถ้าใครจำกันได้ เมื่อก่อนการจะหาดาวน์โหลดแอพสักตัวอาจจะต้องเข้าไปตามเว็บของผู้ผลิตหรือเว็บที่รวบรวมซอฟต์แวร์อย่าง Handandgo หรือไม่ก็ไปตามร้านตู้ในห้าง และแอพในยุคแรกๆ มักจะมีราคาค่อนข้างสูงและต่างคนก็ต่างหากวิธีการลักลอบใช้กันอยู่เรื่อยไป แต่ด้วยการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้น เทรนด์การดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีการเลือกซื้อเลือกดาวน์โหลดมากขึ้น ทาง App Store ของแต่ละค่ายเองก็ต้องปรับตัวด้วยการตั้งมาตรฐานของแอพและระดับราคาให้เหมาะสม

ราคาเองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้แอพต่างๆ เลือกเข้าไปดาวน์โหลดและเสียเงินให้กับการซื้อแอพมากยิ่งขึ้น จากรายงานของต่างประเทศระบุไว้ว่าในปี 2011 ยอดการดาวน์โหลดแอพผ่าน App Store ของ Android นั้นมีสูงถึง 4.5 พันล้านครั้ง ในขณะที่ App Store จาก Apple มียอดการดาวน์โหลดสูงถึง 1.5 หมื่นล้านครั้ง และหากคุณผู้อ่านเห็นตัวเลขรายได้ในแวดวง App Store อาจจะต้องตกใจเพราะ ในปี 2010 ยอดการดาวน์โหลดแอพของทุกค่ายมีมูลค่าสูงถึง 5,200 ล้านเหรียญ ซึ่งยอดเงินจำนวนนี้ เขามีการคำนวณการเล่นๆ ว่าสามารถเอาไปซื้อ iPhone 4S แล้วมาเรียงให้สูงเท่าตึก Empire State ในสหรัฐได้มากถึง 6,700 ตึกเลยทีเดียว เห็นตัวเลขนี้จะเห็นว่ามันมหาศาลมากเลยใช่มั้ยครับ แต่ในสหรัฐเองก็ได้มีการคาดเดากันว่าในปี 2011 เมื่อปิดปีน่าจะมียอดเงินในตลาดแอพหมุนเวียนสูงถึง 15,100 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ตัวเลขเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงสงคราม App Store ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ความหลากหลายใน App Store เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถชี้วัดความสำเร็จของ App Store นั้นได้ไม่ยาก ดังจะเห็นได้ว่า iOS ทำไม่ถึงได้รับความนิยมอย่างมาก ผมกล้าฟันธงได้ว่านั่นเป็นเพราะจำนวนของแอพและ “ความหลากหลาย” ที่ผู้ใช้สามารถเลือกดาวน์โหลดได้ตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งสามารถตอบโจทย์และเข้าถึงได้กับทุกคนทุกกลุ่มตั้งแต่เด็กอนุบาลที่ชอบขีดๆ เขียนๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่วัยทำงานในบางสายอาชีพที่สามารถเลือกใช้แอพได้ตรงความต้องการของตัวเอง ซึ่งต้องยอมรับว่า Apple เองสามารถทำให้คนติดใจและเฝ้ารอการเพิ่มใหม่ๆ ของแอพได้อย่างน่าประทับใจ

จากกราฟนี้จะเห็นได้ว่าราคาโดยเฉลี่ยของ BlackBerry App ในทุก Category จะมีราคาแพงกว่าทั้ง 2 ค่ายซึ่งตรงนี้อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การเติบโตไม่สูงมากนัก

ในขณะที่แอพฝั่งของ BlackBerry ถึงแม้จะมีครบในทุก Category แต่ก็ต้องยอมรับว่าความน่าสนใจในตัวแอพยังไม่มากเท่าที่ควรนักจะเห็นได้จากจำนวนแอพที่มีหรือการตอบโจทย์ผู้ใช้ยังไม่มากเท่า iOS หรือ Android แถมที่สำคัญราคาของแอพยังมีมูลค่าที่ค่อนข้างสูงอยู่ด้วยนั่นเอง

love me, love my App

จะเห็นได้ว่าการพัฒนา App Store เป็นสิ่งที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นพร้อมกับการเติบโตของตลาดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จนตอนนี้กำลังจะเข้ามาสู่คอมพิวเตอร์ตามบ้านแล้ว แต่เดิมการเลือกซื้อโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ก็คงหนีไม่พ้นการเลือกซื้อตามร้านคอมพิวเตอร์หรือแหล่งคอมพิวเตอร์ หากเป็นในบ้านเราก็คงจะเป็นพันธุ์ทิพย์ที่คุ้นเคยกัน หรือถ้าใครทันสมัยหน่อยหรือโปรแกรมบางตัว ก็สามารถเข้าไปซื้อได้จากเว็บไซต์ของผู้ผลิตหรือ download.com แต่เมื่อตลาดของ App Store กำลังมา เทรนด์การพัฒนา Store ที่เน้นขายแอพก็เป็นสิ่งที่ต้องคอยติดตามและเฝ้าดูกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งทีเกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งในโลกของซอฟต์แวร์

Store War ศึกตัดสินสมาร์ทโฟน 2012

อย่าง Google เองก็มีการออก Chrome Browser ของตัวเองออกมา และมีการพัฒนา Chrome Web Store ที่รวบรวมแอพสำหรับการใช้งานในลักษณะของ Plug-in หรือ Widget สำหรับใช้บน Chrome Browser ของตัวเอง โดยตัว Chrome Web Store นั้นมีการนำแอพที่มีความน่าสนใจและมีความหลากหลาย หลายๆ แอพที่ผมลองเข้าไปดู ก็เป็นแอพที่มีในสมาร์ทโฟน Android นั่นเอง ในฟากของ Apple เองก็เพิ่งเปิดตัว Mac App Store บนเครื่อง Mac ของตัวเอง ทำให้ลูกค้าผู้ใช้เครื่อง Mac สามารถใช้ซื้อแอพหรือโปรแกรมขนาดใหญ่ผ่านการดาวน์โหลดได้ง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างรวมเอาไว้ที่เดียวกัน โดยจะเห็นได้ชัดจากการที่ Apple เองเปิดขาย OSX Lion ตัวใหม่ของตัวเองผ่านทางช่องทางดาวน์โหลดด้วย ซึ่งMac Apple Store ก็ถือว่าเริ่มต้นได้อย่างประสบความสำเร็จ เพราะสามารถทำยอดการซื้อและดาวน์โหลดได้ถึงหลายหมื่นชุดภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

รู้หรือไม่ว่า วันเกิดของ app Store ทั้งหลายมีวันอะไรบ้าง

  • Application Store Launch Timeline
  • iTunes App Store: 10 กรกฎาคม 2551
  • Nokia Ovi: 28 สิงหาคม 2551
  • Google Android Marketplace: 22 ตุลาคม 2551
  • BlackBerry App World: 1 เมษายน 2552

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน